วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ความจริงของชีวิต

ความจริงของชีวิต
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด)
เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Law of Karma and Rebirth
ความเข้าใจเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม ทำให้ไม่ต้องน้อยใจในชะตาชีวิตของตนและไม่ริษยาความสุขของผู้อื่น เพราะได้เห็นแจ้งแล้วว่า ความสุขทุกข์ รุ่งเรือง หรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนี้เป็นผลรวมแห่งกรรมของตน หรือกรรมแห่งหมู่คณะของตนเป็นต้น
เรื่องกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ความแตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอของคน แม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกันและมีมารดาบิดาเดียวกัน ได้รับการอบรมอย่างเดียวกัน  
ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเรื่องกรรม ทำให้บุคคลมีน้ำอดน้ำทน มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ท้อถอย มีความเพียรสั่งสมกรรมดีขยาดต่อกรรมชั่ว ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง และไม่ระเริงหลงในเมื่อประสบผลดี เราะมารู้แจ้งว่าผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุ
เรื่องกรรมช่วยให้บุคคลกล้าเผชิญชีวิตอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถมองเห็นแง่ดีแม้ของความผิดหวัง หรือส่งที่เรียกกันว่าโชคร้าย เพราะแจ่มแจ้งว่า มันเป็นการใช้หนี้กรรมอย่างหนึ่ง ทำให้เรือชีวิตเบาขึ้น ทำให้แล่นไปข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้น เหมือนบุคคลมีหนี้สิน เมื่อได้ใช้หนี้ไปเสียบ้าง ย่อมทำให้สบายใจขึ้น เบาใจขึ้น
หลักกรรมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะมีปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ ถ้าปราศจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือที่เรียกว่า สังสารวัฏเช่นปัญหาเรื่องคนดีบางคนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญเป็นต้น ปัญหานี้จะเป็นเรื่องค้างโลกถ้ากฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ไม่เข้ามาช่วยแก้
อนึ่ง ช่วงชีวิตเพียงช่วงเดียวของบุคคลสั้นเกินไปไม่เพียงพอพิสูจน์กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วได้ทั้งหมด การเกิดใหม่จะช่วยอธิบายกรรมในอดีตของคนได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสนามหรือเวทีสำหรับทดลองแรงกรรม ว่าใครได้ทำกรรมอะไรไว้มา น้อย เบาบาง หรือรุนแรงเพียงใด
                ด้วยประการฉะนี้ การศึกษาให้รู้แจ้งในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้ มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นร่มเย็นและทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างหลักลอยปล่อยตัวและตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา
                เรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดทำให้บุคคลหายงมงายหายตื่นเต้นต่อความขึ้นลงของชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้นและทำผู้ใกล้ชิด เช่น บุตรหลาน หรือบริวารชนให้มีความเข้าใจในปัญหาชีวิตของตน
                ครู ผู้สอนวิชาศาสนาหรือวิชาอื่นใดก็ตามควรย้ำให้นักเรียนเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องหลักกรรมและสังสารวัฎเพราะอันนี้คือพื้นฐานอันจะทำให้ศีลธรรมมั่นคงในจิตใจของเยาวชนเหล่านั้น
                ต่อไปนี้เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 แห่งบรมจักรีวงศ์)
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสิ่งที่เราควรจะสอนให้เข้าใจแลบะให้เชื่อมั่นเสียตั้งแต่ต้นทีเดียวคือสิ่งที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดและกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะหนทางปฏิบัติของพุทธศาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นความทุกข์แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อในกรรม แต่จะสอนแต่เรื่องกรรมอย่างเดียว ไม่สอนเรื่องวัฏฏสงสารด้วยก็ไม่สมบูรณ์
                ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่งควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในกรรมแล้ว มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฏฏสงสารและกรรมนี้เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อกว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง
                ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าคนเราเชื่อกรรมจริง ๆ แล้ว ควรจะได้ความสุขใจไม่น้อย โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอย่างไร
                ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรพยายามสอนเด็กให้เชื่อมั่นในกรรมเสียแต่ต้นทีเดียว ยิ่งให้เชื่อได้มากท่าไรยิ่งดี ควรให้ฝังเป็นนิสัยทีเดียว

กฎแห่งกรรม

                หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น แต่เนื่องจากกรรมบางอย่างหรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสนและเข้าใจไขว้เขว เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ มีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ตรงกันข้ามบางคราวกำบังทำความดีอยู่อย่างมโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้ายถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต
                ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน เกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริง ๆ หรือ ?
                ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่ จึงทำให้เขาได้รับผลดีถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่นคน ๆ หนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุกมากมายในสวนของเขา  เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อน ต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่ เขาบริโภคผลไม้มีพิษ รู้สึกได้รับทุกเวทนาข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง ทั้งนี้ สามเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัดมาก เหมือนแสงสว่างน้อย ๆ ไม่พอที่ส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นตามเป็นจริง ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใดเขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสบับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น
                สิ่งใดที่ละเอียดมาก เช่น จุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพัน ๆ เท่าของวัตถุจริง จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมากระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ข้อนี้ฉันใด
                ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิต สามารถเห็นได้ละเอียดรู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรม ชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้ เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณสามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้นจึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้บากคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อก็เป็นประโยชน์แก่เขาเองทั่งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจ หาความสุขได้เอง
                ผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อคือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคง ยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็ไปบีนเทิงในโลกหน้าเมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ดก็สามารถทำใจได้ว่า มันเป็นผลของกรรมชั่วเมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป

                เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเลหรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน การได้ดีหรือได้ชั่วนั้น ถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอยบางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรก แซงเข้ามาเสียก่อน ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่
               
ผลภายนอกและผลภายใน
ผลภายนอก คือ ผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภยศ สรรเสริญ ความเพลิดเพลินความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็นหรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทา ติเตียน มีความทุกข์ต่าง ๆ รุมสุมเข้ามาเช่นความเจ็บป่วย ความต้องพลัดรากจากปิยชนมีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น คนทั้งหลายพากันฝังใจเชื่อว่าเป็นผลดีหรือผลของกรรมดี ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาติเตียนและทุกข์นั้นเป็นผลชั่วหรือผลของกรรมชั่ว แต่ในชีวิตปัจจุบันที่เห็น ๆ กันอยู่หาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่   ลาภอันให้เกิดขึ้นโดยทุจริต มิจฉาชีพก็ได้ โดยสุจริต สัมมาชีพก็ได้ ยศอาจเกิดขึ้น โดยประจบสอพลอก็ได้ โดยการประกอบการงานอย่างขยันมั่นเพียรก็ได้ สรรเสริญอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้สรรเสริญเข้าใจผิดหรือเพราะเป็นพวกเดียวกันมีอคติอยู่ในใจก็ได้เพราะมีคุณความดีจริง  ก็ได้ส่วนความสุข ความเพลิดเพลินนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชอบ บุคคลชอบสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นตามปรารถนาก็รู้สึกสุข เพลิดเพลินไปพักหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดีหรือทำชั่วก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภไม่ คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ได้เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำและความเจ็บใจ เช่น ความลำบากกายลำบายใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ที่ต้องลงทุน (Per-payment)
ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสนเพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้นสมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรมเท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น
ส่วนผลภายใน คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำเป็นผลที่แน่นอนกว่า คือ คนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดีจิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่วรู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั้นเองเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุขทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สิน สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วย โลภ โกรธหลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั่นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่ เช่น พระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกรหายใด ๆ เลยแต่ท่านมีความสุขมากเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์               

กรรม 12

                ในตอนนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้รายละเอียดแห่งกรรมจึงขอกล่าวถึงกรรม 12 ซึ่งจัดตามหน้าที่จัดจามแรงหนักเบาและจัดตามกาลที่ให้ผล เมื่อทราบคำจำกัดความของกรรมประเภทต่าง ๆ แล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจเข้าใจได้เลย บางท่านอาจยังไม่เข้าใจ ท่านที่ยังไม่เข้าใจก็อย่างเพิ่งใจร้อน ทำใจเย็น ๆ ไว้ก่อนและขอให้อ่านต่อไป จะเข้าใจได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

กรรมจัดตามหน้าที่มี 4

1.       ชนกกรรม กรรมที่ก่อให้เกิดหรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่าง ๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนก - กรรมนี้เป็นผลของอาจิณณกรรมบ้างของอาสันนกรรมบ้าง
2.       อุปถัมภกกรรม กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั่งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
3.       อุปิฬกกรรม กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพราะลง
4.       อุปฆาตกรรมหรืออุปัจเฉทกรรม กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั่งฝ่ายกุศลและอกุศล

กรรมจัดตามแรงหนักเบามี 4

1.       ครุกรรม กรรมหนัก ฝ่ายดีหนมายถึงฌาณ วิปัสสนา มรรค ผล ฝ่ายชั่วหนมายถึงอนันตริกรรม 5 คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน
2.       อาติณณกรรมหรือพหุลกรรม กรรมที่ทำจนเคยชินหรือทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก
3.       อาสันนกรรม- กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอาจภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนี้เป็นอารมณ์ เมื่อจวนตาย
4.       กตัตตากรรมหรือตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือทำโดยไม่เจตนา

กรรมจัดตามกาลที่ให้ผลมี 4

1.       ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม- กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
2.       อัปัชชเวทยีกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน
3.       อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลหลังจาก อุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไปสบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น
4.       อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

รายละเอียดของกรรม 12

เมื่อกรรมนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ คือ คนที่ทำกรรมดีไว้ย่อมไปเกิดในภพที่ดี คนทำกรรมชั่ว
ไว้มากไปเกิดในภพที่ชั่วกรรมที่ส่งให้เกิดนั้นเรียกว่า ชนกกรรม (ชนก = ให้เกิด) สมมติว่าชนกกรรมฝ่ายดีส่งเขาให้เกิดในตระกูลที่ดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินสมบัติและบริวาร มีตระกูลสูง เขาเกิดเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท หมั่นหาทรัพย์เพิ่มเติม รักษาทรัพย์เก่าให้มั่นคง มีความเคารพนบนอบต่อผู้ควรเคารพ ถนอมน้ำใจบริวารด้วยการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ พูดจาไพเราะ ทำประโยชน์ให้และวางเหมาะสม การกระทำเช่นนั้นเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยส่งเสริมผลของกรรมดีเก่า รวมกับกรรมใหม่ ทำให้เขามั่งคั่งมากขึ้นมีบริวารดีมาขึ้น
                ตรงกันข้ามถ้าเขาได้ฐานะเช่นนั้นเพราะกุศลกรรมในอนาคตส่งผลให้แล้ว เขามัวเมาประมาท ผลาญทรัพย์สินด้วยอบายมุขนานาประการ มีเกียจคร้านทำการงานและคบมิตรเลวเป็นต้น กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬก กรรมบีบคั้นเขาให้ต่ำต้อยลงจนสิ้นเนื้อประดาตัว บริวารก็หมดสิ้นถ้าเขาทำชั่วมากขึ้นกรรมนั้นจะกลายเป็นอุปฆาตกรรม ตัดรอนผลแห่งกรรมดีเก่าให้สิ้นไป กลายเป็นคนล่มจมสิ้นความรุ่งเรืองในชีวิต
                อีกด้านหนึ่งสมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งเกิดมาลำบากยากเข็ญ ขันสนทั้งทรัพย์และบริวาร รูปร่างผิวพรรณก็ไม่งามเพราะอกุศลกรรมในชาติก่อน หลอมตัวเป็นชนก กรรมฝ่ายชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วเขาประกอบกรรมชั่วซ้ำเข้าอีก กรรมนั้นมีสภาพเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยสนับสนุนกรรมเก่าให้ทวีแรงขึ้น ทำให้ฐานะของเขาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม
                แต่ถ้าเขาผู้เกิดมาต่ำต้อยเช่นนั้นแล้ว ไม่ประมาทอาศัยความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ถือเอาความอุตสาหะเป็นแรงหนุนชีวิตรูจักคบมิตรดี กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นปุปฬกกรรม - บีบคันผลของอกุศลกรรมเก่าให้เพลากำลังลง เขามีความเพียรในทางที่ชอบมากขึ้น ขวนขวายในทางบุญกุศลมากขึ้นกรรมของเขาแปรสภาพเป็นอุปฆาตกรรมหรืออุจเฉทกรรมตัดรอนผลแห่งอกุศลกรรมเก่าให้ขาดสูญ จนในที่สุดเขาเป็นคนตั้งต้นได้ดี มีหลักฐานมั่นคง
                ที่กล่าวมานี้ คือ กรรมที่จัดตามหน้าที่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หน้าที่ของกรรม ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ให้เกิดอุปถัมภ์บีบคั้นและตัดรอน
                ส่วนกรรมที่ให้ผลและแรงหนักเบาของกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก คือ กรรมหนัก (ครุกรรม) ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว จะให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น (ทิฆฐธัมมเวทนีย์) ส่วนกรรมที่เป็นอาจิณหรือพหุกรรมนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสให้ผลในชาติปัจจุบัน ก็จะยกยอดไปให้ผลในชาติถัดไป (อุปัชชเวทนีย์) และชาติต่อๆ ไป (อปราปรเวทนีย์) สุดแล้วแต่โอกาสที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนี้อทัน เมื่อใดกัดเมื่อนั้น
                กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต (อาสันนกรรม) นั้น มักให้ผลก่อนกรรมอื่น เพราะจิตไปหน่วงอารมณ์นั้นไว้แน่นไม่ว่าเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว กรรมนั้นใกล้จุติจิตและใกล้ปฏิสนธิจิต ท่านว่าแม้บางคราวจะมีกำลังน้อยก็ให้ผลก่อนกรรมอื่นเปรียบเหมือนรถติดไฟแดง เมื่อไฟเขียวอันเป็นสัญญาณให้รถไปได้เปิดขึ้น รถคันหน้าแม้มีกำลังวิ่งน้อยก็ออกได้ก่อน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว รถที่มีกำลังดีกว่าย่อมแซงขึ้นหน้าไปได้
                ในตำรา ท่านเปรียบผลของอาสันนกรรมว่า เหมือนวัวที่ขังรวมกันอยู่ในคอ รุ่งเช้ามารอกันอยู่ที่ประตูคอก พอนายโคบาล (คนเลี้ยงโค) เปิดประตูคอก วัวตัวใดอยู่ใกล้ประตูที่สุดจะเป็น แม่โค ลูกโค หรือโคแก่ก็ตามย่อมออกมาได้ก่อน แต่เนื่องจากกำลังเพลา พอออกมาในที่โล่งแล้ว วัวตัวใดมีกำลังมาก วัวนั้นย่อมเดินขึ้นหน้าไป ผลของอาสันนกรรมให้ผลก่อนก็จริง แต่ให้ผลในระยะสั้นเมื่อสิ้นแรงของอาสันนกรรมแล้วก็เป็นโอกาสของอาจิณณกรรมหรือพหุลกรรม คือ กรรมที่คนทำจนเคยชินทำจนเป็นนิสัย
                ส่วนกรรมที่ทำโดยไม่เจตนาที่เรียกว่า กตัตตากรรมหรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำให้ผลน้อยที่สุด กำลังเพลาที่สุด เมื่อกรรมอื่นไม่มีจะให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผลเป็นเหมือนหนี้รายย่อยที่สุด
                กรรมใดคอยโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสเลยจึงเลิกแล้วต่อกันไม่ให้ผลอีก กรรมนั้นเรียก อโหสิกรรม เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไปหรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟเสียแล้วไม่มีโอกาสงอกขึ้นได้อีก (เรื่องนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่ว่าด้วย กรรมจะหยุดให้ผลด้วยเหตุ 3 ประการข้างหน้า)
                กรรมเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก แต่ผู้มีปัญญาก็พอตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ยากเกินไป จนตรองตามด้วยปัญญาแล้วก็ไม่เห็นและไม่ง่ายเกินไปจนไม่ต้องตรองตามก็เห็นได้
                กรรมบางอย่างบุคคลทำโดยไม่เจตนาก็จริง แต่ก่อผลสุขและทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้ผู้ทำกรรมเช่นนั้นย่อมได้รับผลย่อมได้รับผลตอบแทนมาในทำนองเดียวกัน คือ ได้รับสุขหรือทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตนาของผู้อื่น เช่น การยิงนกแต่ไปถูกคนเข้าหรือเขายิงคนอื่นแต่ไพล่ไปถูกอีกคนหนึ่ง โดยเหตุบังเอิญ นี้เป็นผลแห่งกตัตตากรรม
                บุคคลผู้หนึ่งโยนก้อนหินลงไปทางหน้าต่าง บังเอิญก้อนหินนั้นไปถูกคนหนึ่งเข้า หัวแตกกรรมของเขาเป็นกตัตตากรรม เมื่อถึงคราวที่กรรมนี้จะให้ผล ย่อมให้ผลในทำนองเดียวกัน
                ในฝ่ายดี เช่น บุคคลผู้หนึ่งเอาของเหลือไปเททิ้งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใคร แต่บังเอิญสุนัขมาอาศัยกินรอยชีวิตไปได้กรรมนั้นของเขาเป็นกตัตตากรรม เมื่อถึงคราวเขาจะได้รับผลแห่งกรรมนั้นย่อยได้รับในทำนองเดียวกัน
                จริงอยู่พระพุทธองค์ตรัสว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ = ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นว่าเป็นกรรมนั้นหมายเอากรรมอื่นทั้งปวง ยกเว้นกตัตตากรรม

กรรมอย่างเดียวทำหน้าที่หลายอย่าง
                บางทีกรรมอย่างเดียวนั้นเอง เรียกชื่อต่างออกไปตามหน้าที่ กาล และความหนักเบา ตัวอย่างเช่น การฆ่ามารดาบิดา จัดเป็นกรรมหนัก (ครุกรรม) เมื่อให้ผลในปัจจุบัน เช่นถูกฆ่าตอบหรือต้องถูกจองจำได้รับทุกข์ทรมานในชาติปัจจุบันพอเขาสิ้นชีพลงไปเสวยทุกข์ในนรก กรรมนั้นเป็นอุปัชชเวทนียกรรม กรรมนั้นเที่ยวติดตามให้ผลอยู่ภพแล้วภพเล่า กรรมนั้นเป็นอปราปรเวทนียกรรม เมื่อให้ผลจนเต็มที่แล้วสมควรแก่เหตุแล้วก็เลิกให้ผลหรือผู้ทำกรรมนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์เสียก่อน สิ้นชาติสิ้นภพแล้วกรรมนั้นตามให้ผลไม่ได้อีก จึงกลายเป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนบุคคลคนเดียวเรียกได้หลายอย่าง เช่น เป็นลูกของพ่อแม่ เป็นพ่อของลูก เป็นสามีภรรยา เป็นนายของลูกน้อง เป็นครูของศิษย์เป็นต้น
                กรรมที่บุคคลทำแล้วจะให้ผลครั้งเดียวพ้นไม่ก็หาไม่ ย่อมตามให้ผลครั้งแล้วครั้งเล่า ชาติแล้วชาติเล่าจนกว่าจะสิ้นแรงหมดไป เปรียบเหมือนต้นไม้ที่บุคคลปลูกไว้เพียงครั้งเดียวแต่ให้ผลเป็นร้อย ๆ ครั้งจนกว่าจะแก่ตายไป
                ส่วนอาสันนกรรม คือ กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนตายจะเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วก็ตาม ที่ว่าให้ผลก่อนนั้นเพราะมีช่วงใกล้ชิดกับการปฏิสนธิในภพใหม่ จึงให้ผลทันทีในขณะที่บุคคลเคลื่อนจากภพเก่าสู่ภพใหม่นั้นเอง แต่ให้ผลในระยะสั้นดังกล่าวแล้ว การตามให้ผลยั่งยืนเป็นหน้าที่ของอาจิณณกรรม คือ กรรมที่บุคคลทำเป็นประจำ
                สมมติว่าบุคคลผู้หนึ่งทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ เป็นอันมาก หมั่นประกอบบุญกุศลตลอดชีวิต แต่ชีวิตปุถุชนย่อมเคยประกอบกรรมชั่วมาบ้างไม่มากก็น้อยถ้าในขณะใกล้ตายเขามิได้ระลึกถึงบุญกุศลของเขาเลย กลับระลึกแต่บาปเล็กน้อยที่เคยทำแรงบาปนั้นจะให้ผลทันทีส่งให้เขาถือปฏิสนธิในกำเนิดที่ต่ำทราม เช่น นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะลำบากยากเข็ญอยู่ชั่วระยะหนึ่งเพียง 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน 1 ปี เป็นอาทิตย์ แล้วผลแห่งอกุศลกรรมนั้นจะหมดกำลังเปิดโอกาสให้ผลบุญกุศลที่เขาเคยสั่งสมไว้เป็นประจำให้ผลต่อไป เขาจะประสบความสุขความเจริญได้ที่พึ่งที่พักพิงอย่างดีและมีความสุขตลอดชีวิตใหม่
                ในทางตรงกันข้าม บุคคลอีกผู้หนึ่งทำความชั่วเป็นอาจิณแต่ถึงกระนั้นเขาเคยทำกรรมดีมาบ้างไม่มาก็น้อยเมื่อเวลาจวนตาย เขาระลึกถึงแต่กรรมดีที่เคยทำ เช่น เคยถวายอาหารแก่พระสงฆ์ เคยช่วยเหลือคนเจ็บ เคยช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดตายเป็นต้น เขามิได้ระลึกถึงแต่กรรมดีนั้น หรือญาติพี่น้องให้เขาให้ทางรักษาศีล เจริญพระพุทธคุณในขณะนอนเจ็บเตรียมตัวตายอยู่ เขาระลึกถึงแต่ความดีแม้เพียงเล็กน้อยนี้ หากตายลงในขณะจิตเช่นนั้น เขาจะต้องไปถือปฏิสนธิในกำเนิดที่ดีก่อน แต่เนื่องจากผลแห่งกรรมดีน้อยมาก  จึงหย่อนกำลังให้ผลเพียงเล็กน้อยแล้วหมดจึงเปิดโอกาสให้กรรมชั่วต่าง ๆ ที่เขาเคยทำไว้รุมล้อมให้ผลต่อไป ทำให้เขาต้องได้รับทุกขเวทนาประสบความเสื่อมต่าง ๆ แม้เขาจะพยายามทำดีมากที่สุด แต่แรงแห่งอกุศลกรรมในอดีตคอยรังควานให้รำคาญเดือดร้อนอยู่ร่ำไป เพราะไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม
                คนที่ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ กรรมที่ทำเมื่อจวนตายมีความหมายมากสำหรับเขา เหมือนกระดาษที่ว่างเปล่าสีอะไรตกลงไปก็เด่นชัดมาก


การมองไม่เห็นกรรม
                กรรมดีหรือชั่วจะคอยติดตามบุคคลผู้ทำอยู่เสมอเหมือนเงาตามตัว แต่การที่คนมองไม่เห็นการตามของกรรมก็เพราะดำเนินชีวิตอยู่ในทางมืดเหมือนบุคคลไม่เห็นผู้ติดตามตนอยู่ในที่มืด พอเข้าสู่ที่สว่างถ้าเขาเหลียวไปมองย่อมเห็นได้ บุคคลที่ได้รับการอบรมจิตให้สงบ สะอาด และสว่างขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมองเห็นกรรมและผลของกรรมละเอียดประณีตขึ้นเท่านั้น
                แต่กรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้ว มันมีระยะฟักตัวตามสมควรบุคคลผู้มีปัญญาน้อยจึงเห็นได้ยาก อนึ่ง ชีวิตของมนุษย์สั้นเกินไป เพียงชีวิตเดียวไม่เพียงพอในการพิสูจน์กรรมให้ตลอดได้ การฟักตัวของกรรมก็เหมือนการมีครรภ์ของสตรี เมื่อครบกำหนดจึงคลอดหรือเหมือนการสุขของผลไม้ ย่อมต้องอาศัยเวลาตามสมควรการรอคอยของกรรอาจใช้เวลาเป็นร้อยปี พันปี หรือหมื่นปีก็ได้ แม้รอคอยนานถึงปานนั้นแบะมีความสลับซับซ้อนมากเพียงใด กรรมก็สามารถหาตัวผู้ทำได้ถูกต้องเสมอท่านเปรียบเสมือนลูกโค แม้จะรวมอยู่ในฝูงเป็นอันมากก็สามารถหาแม่ของมันพบ หรือเหมือนเด็กที่รู้เดียงสาแล้วย่อมจำแม่ของตนได้
                    ดังนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีเป็นเครื่องตอบแทน ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วการที่บุคคลลังเลสงสัยในเรื่องนี้ ก็เพราะไปตัดสินเอาตามปรากฏการณ์บางอย่างภายนอกอันมีลักษณะเป็นมารยา หลอกลวง
                คนที่ทำความชั่วไว้มาก ความชั่วจะคอยรบกวนจิตใจของเขาให้กังวลอยู่เสมอ แม้จะปรากฏแก่คนอื่นให้ดูเหมือนว่ามีความสุข แต่ภายในใจของเขาเองใครจะเป็นคนรู้ว่ามีสุขทุกข์อันใดทับถมอยู่บ้าง
                คนที่ชอบบ่นว่าทำดีไม่ได้ดีนั้น อาจเป็นเพราะทำดีไม่ถูกต้องหรือทำดีไม่เป็นหรือมิฉะนั้นก็ใจร้อนเกินไป ตีโพยตีพายอยากได้ผลเร็ว ๆ ในขณะที่ความดียังไม่ทันให้ผล
                การทำดีเป็นหน้าที่ของบุคคลผู้รักดี ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรมเหมือนการไถ หว่านเป็นหน้าที่ของชาวนาส่วนการออกรวงเป็นหน้าที่ของต้นข้าว มันย่อมออกรวงตามเวลาอันสมควรเมื่อยังไม่ถึงเวลาอันสมควรจะอ้อนวอนสักเท่าไรก็หาสมปรารถนาไม่ แต่พอถึงเวลาออกรวงใครจะอ้อนวอนให้ออกก็ไม่ได้ เรื่องการให้ผลของกรรมก็ทำนองเดียวกันนี้
                ผลของกรรมชั่วคอยติดตามบีบคั้น ส่วนผลของกรรมดีคอยติดตามประคับประคองช่วยเหลือผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ การมองชีวิตต้องมองในระยะยาวและกว้างไกลจึงจะเห็นวิถีชีวิตโดยตลอด






การทำบุญละลายบาป
                มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ การทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาปจะได้หรือไม่ ?
                การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ ใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่น ความชั่วเกิดขึ้นในใจเมื่อความดีเกิดขึ้นความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่า เอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว
                อีกอย่างหนึ่งความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้วซึ่งจะต้องมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้นจนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีอานุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด (เอชิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง (อัลคอไลน์)    ลงไปเรื่อย ๆ  กรดนั้นก็เจือจางลงจนหมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ
                เปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนเกลือกับน้ำ สมมติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถึงน้ำใหญ่ ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฏ แม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก อัพโพหาริกแปลว่า มีเหมือนไม่มีเรียกไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีเหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือในเนื้อไม้ เรารู้ได้ว่ามีความชื้นอันเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา
                เอน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงไปในถังใหญ่ ๆ แล้วเติมน้ำบงไปเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเกลือในที่สุดน้ำนั้นจะไม่ปรากฏความเค็มเลย เพราะจำนวนน้ำเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การ  ทำความดีละลายความชั่วหรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน
                เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีพระพุทธภาษิตอ้างอิงดังนี้
                ภิกษุ ทั้งหลายบุคคลบางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนยํ) ไม่ปรากฏผลอีกต่อไป
                บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก?  คือบุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก
                บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป?  คือบุคคลผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่ อยู่ด้วยคุณมีเมตตาเป็นต้นอันหาประมาณมิได้
                เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำนี้ย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อยแต่ถ้าใส่ก้อนเกลือนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมากฉันใด
                ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก (เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเล็กน้อยบาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (เพราะเขามีคุณมาก) ฉันนั้น
                คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนน้ำในถ้วยเล็ก ๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมากส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดีจึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว
                บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปก็มีมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติอานุภาพในการทำลายบาป ดังพระพุทธภาษิตว่า
                หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออกไม่ทำให้น้ำไหลเอข้าไปข้าในฉันใด ผู้อบรมแล้วทำให้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้าในฉันนั้น
                ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะคือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาดสมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่า เป็นผู้ล้างบาปได้
                ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจและการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้วย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว
                ในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเคยความเดือดร้อน เจ็บซ้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สึกตัวรับทำความดีต่อเราและทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขาให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้วทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากนั้นยังมีกำไรเสียอีก
                อีกอุปมาหนึ่งเหมือนคนเคยเป็นหนี้เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้วยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมายอย่างนี้เจ้าหนี้ย่อยจะพอใจเป็นอันมากเขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ สานการทำดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้การทำความดีจึงดีกว่าการทำชั่ว
                อีกตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก ฉะนั้น
                นี้แสดงว่า บุคคลสามารถละลายหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้
                ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่วมีกำลังใจในการทำความดี ในการกลับตัวไม่ถลำลึกลงไปในความชั่วคนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก
                การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสองก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น
                 รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดีแต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรง ๆ เช่น อรหัตตมรรค อรหัตตผล  สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมดและมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่า ๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะได้ผลอยู่บ้างก็เพราะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น

ก่อนให้ผลบุญบาปอยู่ที่ใด ?
                อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุญหรือบาปที่บุคคลทำแล้วเมื่อยังไม่ให้ผลมันไปอยู่ที่ใด ? ตอบว่า มันติดตามผู้ทำอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่มองไม่เห็นแต่บางทีเมื่อกรรมจะให้ผลกรรมนั้นมาประกฎในความฝันก่อนก็มี ที่ท่านเรียกว่า กรรมนิมิต เป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งความฝัน 4 ประการ คนที่จะตายด้วยอุปัทวเหตุมักฝันอะไรบางอย่างที่ทำให้เจ้าตัวไม่สบายใจหรือมีความสังหรณ์ใจแปลก ๆ นั่นแสดงถึงอิทธิพลแห่งกรรมซึ่งเตือนบุคคลผู้นั้นล่วงหน้าก่อน ผู้มีจิตบริสุทธิ์บางคนสามารถรู้วันตายของตนล่วงหน้าเป็นเวลาหลาย ๆ วัน หลาย ๆ เดือน พระพุทธเจ้าเองก็ทรงกำหนดวันปรินิพพานของพระองค์ล้วงหน้าตั้ง 3 เดือน
                อนึ่ง ถ้าเราพิจารณาถึงธรรมชาติบางอย่างเช่น ต้นไม้มีผล อาทิ มะม่วง เมื่อมันยังไม่ออกผล ผลนั้นไปอยู่ที่ใด ? เมื่อมันออกผลคราวหนึ่งแล้ว ปีหน้ามันจะต้องออกอีกผลซึ่งจะออกในปีหน้าไปรออยู่ที่ใด ?
                เรื่องต้นมะม่วงกับผลมะม่วง ฉันใด เรื่องกรรมกับผู้ทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อถึงคราวถึงสมัยเมื่อมันสุกงอมเต็มที่เท่านั้น กรรมดีหรือกรรมชั่วมิได้ให้ผลครั้งเดียวพ้นไป แต่จะส่งผลอยู่เสมอ ๆ จนกว่าจะหมดแรงของมันเหมือนมะม่วงให้ผลทุกปี จนกว่าต้นมันจะแก่ล้มตายไปในที่สุด
                อีกอย่างหนึ่ง คนที่ทำกรรมลงไปแล้ววิบากแห่งกรรมสั่งสมอยู่ในจิตใจของตน เมื่อสั่งสมมากเข้าถึงเวลาที่วิบากกรรมจะให้ผลเสียครั้งหนึ่งก่อน สมมติว่าเป็นกรรมชั่ววิบากของกรรมชั่วที่มีอยู่ในสันดาน จะเป็นสิ่งบันดาลโดยจูงใจให้บุคคลผู้นั้น พูด คิด หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลดีนั้น ๆ วิบากแห่งกรรมจึงเป็นสิ่งมองไม่เห็นตัวที่น่กลัวที่สุด บางทีวิบากแห่งกรรมส่งความตายมาถึงบุคคลหนึ่งมาคุมไปจากในบ้านโดยที่ตัวเขาเองก็ไม่เห็น พี่น้อง ลูกเมียก็ไม่เห็น แต่ทำให้เขารู้สึกร้อนใจอยู่ในบ้านไม่ได้ต้องออกไปนอกบ้านทั้ง ๆ ที่ไม่มีธุระจำเป็นแต่ประการใด อีก 10 นาทีต่อมาปรากฏว่าถูกรถชนตายเสียแล้ว หรือได้รับอันตรายใดอย่างหนึ่งอันสมควรแก่กรรม





การหยุดให้ผลของกรรม
กรรมจะหยุดให้ผลด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
1.      หมดแรง คือ ให้ผลจนสมควรแก่เหตุแล้วเหมือนคนได้รับโทษจำคุก 2 ปี เมื่อถึงกำหนดแล้วเขาย่อมพ้นจากโทษนั้นนอกจากในระหว่าง 2 ปี ที่ถูกจองจำอยู่เขาจะทำความผิดซ้ำซากเข้าอีก ถ้าในระหว่างถูกจองจำอยู่เขาทำความดีมากอาจให้ลดโทษลงเรื่อย ๆ การให้ผลของกรรมก็ทำนองเดียวกัน โดยปรกติธรรมดามันจะให้ผลจนหมดแรง นอกจากเวลาที่กำลังให้ผลอยู่นั้นบุคคลผู้นั้นทำชั่วเพิ่มขึ้น มันก็จะให้ผลรุนแรงมากขึ้น ถ้าเขาทำความดีมากขึ้นผลชั่วก็จะเพลาลง ในขณะที่กรรมดีกำลังให้ผลถ้าเขาทำดีเพิ่มขึ้นผลดีก็จะมีกำลังมากขึ้น ถ้าเขาทำกรรมชั่วในขณะนั้นผลของกรรมดีก็จะเพลาลง
2.      กรรมจะหยุดให้ผล เมื่อกรรมอื่นเข้ามาแทรกแซงเป็นครั้งคราว คือกรรมดีจะหยุดให้ผลชั่วคราวเมื่อบุคคลทำกรรมชั่วแรง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมชั่วอันมีกำลังเชี่ยวกรากนั้นให้ผลก่อน ถ้าขณะที่กรรมชั่วกำลังให้ผลอยู่มันจะหยุดให้ผลชั่วคราว เมื่อบุคคลผู้นั้นทำกรรมดีแรง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผลกรรมดีให้ก่อน นี่หมายเฉพาะที่จำเป็นและเร่งด่วนเท่านั้น โดยปกติเมื่อกรรมอย่างหนึ่งให้ผลอยู่ กรรมอื่น ๆ ก็จะรอคอยเปรียบเหมือน เมื่อพระราชามีพระราชภารกิจบางอย่างอยู่หากมีราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่รีบด่วนนัก ราชบุรุษหรืออำมาตย์มนตรีย่อมพักราชกิจนั้นไว้ก่อนจะนำความกราบบังคมทูลต่อเมื่อราชกิจที่ทรงอยู่ (เช่นทรงต้อนรับแขกเมืองอยู่) เสร็จไปแล้ว ถ้าหากเป็นราชกิจรีบด่วนจริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็สามารถนำความกราบบังคมทูลได้ทันที การรับสั่งด้วยแขกเมืองก็ต้องหยุดไว้ก่อน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่จะเข้าใจหรือเห็นกรรมและผลของกรรมโดยตลอดในช่วงชีวิตเดียวฉะนั้น เรื่องกรรมและสังสารวัฏจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจเรื่องกรรมโดยตลอดต้องพูดกันเรื่องสังสารวัฏ เมื่อมีสังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดก็ต้องสาวไปหา กรรมดีกรรมชั่วในอดีต จึงจะสมบูรณ์
3. บุคคลผู้ทำกรรมได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  ตัดวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดเสียได้ มีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้ายไม่เกิดในภพใหม่อีก กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลอีกต่อไปวิญญาณของท่านผู้นั้นบริสุทธิ์หมดเชื้อ เหมือนเมล็ดพืชที่สิ้นยางเหนียวแล้ว ปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไปกรรมของพระองคุลิมาลเป็นอาทิ เมื่อท่านนิพพานแล้วกรรมต่าง ๆ ทั่งดีและชั่ว ไม่ว่ารุนแรงเพียงใดก็หมดโอกาสให้ผลเปรียบเหมือนบุคคลวิ่งหนีสุนัข สามารถว่ายน้ำข้ามไปฝั่งโน้นได้ แล้วเหลือวิสัยของสุนัขที่จะไล่ตามไปได้ เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่กลับมาสู่ฝั่งนี้อีก สุนัขซึ่งเฝ้าคอยก็จะตายไปเอง
อนึ่งความไม่ควรแก่การเกิดอีกของบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงสุด เพราะได้พัฒนาจิตอย่างดีที่สุดแล้วนั้นเปรียบเหมือนเมล็ดพืช  ซึ่งได้พัฒนาตัวมันเองอย่างดีที่สุดแล้ว เมล็ดลีบ เนื้อมาก เมล็ดพืชเช่นนั้นนำไปปลูกไม่ขึ้นอีกไม่ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใด เป็นการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของเมล็ดพืชเช่นนั้น


กรรมมีผลเนื่องถึงผู้อื่น
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ ความดี ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ มีเฉพาะตนหรือคนอื่นอาจทำให้เราบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองได้
ถ้าความดี ความชั่ว ใครทำ ใครได้ ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตนคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้แล้ว ไฉนเล่าเมื่อมารดาบิดาเป็นคนดี ลูกหลานจึงได้รับเกียรติได้รับความยกย่องนับถือด้วย เมื่อมารดาบิดาไม่ดี ตระกูลไม่ดี เหตุไรบุตรธิดาและคนในตระกูลจึงต้องได้รับอัปยศด้วยหรือเมื่อมารดาบิดามั่งมีหรือยากจน บุตรธิดาจึงพลอยมั่งมีหรือยากจนไปด้วย ความไม่บริสุทธิ์อาจป้ายสีกันได้ ความบริสุทธิ์ อาจประกาศยกให้กันได้
ถ้าเป็นดังที่ว่านี้ ก็น่าจะขัดแย้งกับพระพุทธภาษิตที่ว่า สุทธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย = ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้  ขออธิบายข้อความนี้ดังต่อไปนี้
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ใครอื่นจะทำอีกคนหนึ่งให้บริสุทธิ์ไม่ได้นั้นหมายความว่าบุคคลทำชั่วเองย่อมเศร้าหมองเอง ทำดีเองย่อมผ่องแผ้วเอง ทรงหมายถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ชั้นใน ภายในความรู้สึกสำนึกของตน ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ที่คนอื่นถือว่าบริสุทธิ์หรือความเศร้าหมองท่คนอื่นเขาป้ายสีให้ สมมติว่าคนผู้หนึ่งฆ่าคนตาย แม้จะไม่มีใครรู้เห็นเขาผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ในข้อนี้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ได้ฆ่าใครแต่หลักฐานภายนอกผูกมัดเพราะถูกใส่ความ เขาต้องได้รับโทษทางกฎหมาย เช่น ถูกจำคุกหรือถูกปรับ คนทั้งหลายเห็นว่าเขาเป็นอาชญากรหรือฆาตกร แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นจริงกับปรากฏการณ์ภายนอก มิใช่จะตรงกันเสมอไปในกรณีดังกล่าวจะเห็นว่าความบริสุทธิ์หรืไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตนจริง คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองหาได้ไม่ พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกใส่ความเรื่องนางสุนทรีและนางจิญจมาณวิกาคนเชื่อไปก็มาก แต่ความบริสุทธิ์ยังเป็นของพระองค์อยู่ตลอดเวลา
ส่วนความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ในสายตาของคนทั้งหลายอื่นและในสายตาของศาลนั้นไม่แน่เสมอไป คนผิดแท้ ๆ อาจกลายเป็นคนไม่บริสุทธิ์ได้ ถ้าหลักฐานที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมีมากพอที่จะปรักปรำให้เขาต้องเป็นคนผิดในสายตาของศาล เพราะศาลย่อมพิจารณาคดีตามหลักฐานพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยแล้วลงความเห็นไปตามหลักฐานนั้น
คราวนี้เรื่องความดี ความชั่วหรือบุญบาปที่บุคคลหนึ่งทำแล้วผลมาเกี่ยวเนื่องถึงอีกบุคคลหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เพราะชีวิตของคนเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องถึงกัน อย่างที่โบราณว่า ปลาข้องเดียวกัน มักต้องเน่าเหม็นด้วยกันหรือ ของหอมมักทำให้เครื่องรองรับพลอยมอมไปด้วย

เพื่อความแจ่มใสแจ้งในเรื่องนี้ เราควรพิจารณากรรมต่าง ๆ ดังนี้
1.       กรรมส่วนบุคคล
2.       กรรมของครอบครัว
3.       กรรมของหมู่คณะหรือสังคม
4.       กรรมของประเทศชาติ
5.       กรรมของโลก
กรรมส่วนบุคคลนั้น ใครทำคนนั้นได้รับเพียงคนเดียว คือ เขาทำประโยชน์ส่วนตนของเขา เช่น การศึกษาหาความรู้ใครทำคนนั้นก็ได้รับเฉพาะตน เขาศึกษาเล่าเรียนเพียงคนเดียวจะให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่ผู้ไม่ศึกษาเล่าเรียนพลอยรู้ไปด้วยหาได้ไม่ ต่อเมื่อเขารู้แล้วนำความรู้มาสั่งสอน บอกเล่า นั้นแหละคนอื่นจึงจะพลอยรู้ไปด้วย
แต่เมื่อกล่าวโดยอ้อม เขาผู้ศึกษาสูงมีความรู้ดีใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์อยู่ในครอบครัวใด ในหมู่คณะใดครอบครัวนั้น หมู่คณะนั้นก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย ถ้าเขาใช้ความรู้ประกอบกรรมดีถึงระดับชาติ ชาติก็พลอยได้รับเกียรติได้รับประโยชน์จากเขาด้วยเหมือนกัน บางทีเขาทำประโยชน์ได้ระดับโลกอย่างเช่น พระพุทธเจ้า และนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น หลุยส์ ปาสเตอร์เป็นอาทิ โลกก็พลอยได้รับสิ่งดีงามไว้ประจำโลกเพราะอาศัยอัจฉริยบุคคลเช่นนั้น
นี่กล่าวในทางดี ในทางชั่วก็ทำนองเดียวกัน คน ๆ เดียวอาจทำให้โลกเดือดร้อนได้
กรรมของครอบครัวนั้น คือ คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน คนใดคนหนึ่งทำดีหรือชั่ว มั่งมีหรือยากจนลงผลย่อมตกแก่ครอบครัวด้วย เช่น พ่อแม่ทำดี มีชื่อเสียงลูก ๆ ก็พลอยมีหน้าทีตา พ่อแม่ยากจนลงลูก ๆ ก็พลอยลำบากไปด้วย ฯลฯ
กรรมของหมู่คณะหรือสังคมหรือสถาบันก็ทำนองเดียวกันมีความเกี่ยวเนื่องถึงกัน คนในหมู่คณะเดียวกันมีความสัมพันธ์กันทางชื่อเสียง เกียรติยศหรือความเสื่อม อัปยศ อย่านึกว่าเราทำของเราคนเดียว เราอยู่ในสถาบันใด สถาบันนั้นย่อมต้องพลอยเสียชื่อหรือได้ชื่อไปด้วย
ส่วนกรรมของประเทศชาติเป็นกรรมระดับชาติแม้บุคคลผู้เดียวทำก็อาจเป็นประโยชน์แก่ชาติทั้งชาติหรือเป็นภัยแก่ชาติได้ ยิ่งผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของชาติ เช่น ทูตทำสิ่งใดลงไปย่อมหมายถึงการกระทำของชาติเพราะเขาเป็นตัวแทนของชาติ อีกผู้หนึ่งคือผู้ซึ่งเป็นประมุขของชาติ เช่น พระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีทำสิ่งใดลงไปย่อมกระทบกระเทือนถึงชาติเสมอ อาจให้คนรักชาตินั้นหรือเกลียดชาตินั้นก็ได้
อนึ่ง คนมากด้วยกันรวมกันเป็นประเทศชาติต่างคนต่างทำกรรมชั่วกันมากบ้าง น้อยบ้างนาน ๆ เข้าผลแห่งกรรมชั่วรวมกลุ่มกันเนื่องจากมนุษย์ทำกรรมเหมือน ๆ กันไม่มีใครลงโทษใครได้ ผลแห่งกรรมรวมบันดาลให้ธรรมชาติลงโทษมนุษย์เสียครั้งหนึ่ง เช่น เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง แผ่นดินไหวบ้านเรือนพังพินาศเสียหายมากมายเดือดร้อนกันทั้งชาติ นี่เป็นกรรมของชาติแม้คนดี คนบริสุทธิ์ก็พลอยเดือดร้อนด้วย เพราะเป็นบุคคลในชาติ
หลายชาติเดือดร้อน โลกก็เดือดร้อน คนในโลกวุ่นวายระส่ำระสาย ค่าครองชีพสูงทั่วโลก ประชาชนหาได้ไม่พอเลี้ยงชีพ หาความสงบสุขได้ยากนี่กรรมของโลก
ด้วยประการฉะนี้ ผู้มีใจไม่คับแคบก่อนทำก่อนพูดอะไรจึงควรคำนึงถึงผลดีผลเสียอันจะตกแก่สังคมครอบครัวชาติและโลกไว้ด้วย ไม่เพียงแต่คำนึงถึงตนเพียงผู้เดียว
กรรมบางอย่างบิดาเป็นคนทำแต่บุตรเป็นผู้ได้รับเป็นเรื่องน่าพิศวงมาก เช่น บิดาไปตัดมือลิงเพราะลิงได้ทำสิ่งมีค่าของตนเสียหาย ขณะนั้นภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์เมื่อภรรยาคลอด ปรากฏว่าบุตรของเขามือขาดมาแต่ในครรภ์ มือข้างเดียวกับมือลิงที่ถูกตัด
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์สายชีววิทยาอาจให้เหตุผลทางโรคบางอย่างมารดาหรือบิดาอันเป็นเหตุให้ลูกต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงทั้งบิดาและมารดามิได้เป็นโรคอย่างที่หมอหรือนักวิทยาศาสตร์สงสัยนั้นเลย
เรื่องนี้หลักกรรมและการเกิดใหม่ตอบว่าอย่างไร ?
ตอบว่า ถ้ามารดาบิดาไม่มีโรคประจำตัวอันเป็นเหตุให้เด็กเป็นเพราะกรรมที่พ่อไปตัดมือลิงด้วยความโกรธแค้น
ทำไม พ่อทำ ผลร้ายจึงตกแก่ลูก?”
ได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่านอกจากกรรมส่วนบุคคลแล้ว ยังมีกรรมครอบครัวอีกด้วย พ่อทำความดี มีลาภ มียศ ผลดียังตกถึงลูกได้ ทำไมเมื่อพ่อทำไม่ดีผลร้ายจะตกแก่ลูกบ่างไม่ได้
หลักกรรมและการเกิดใหม่มีทางอธิบายได้ 2 ทาง คือ
1. กรรมได้จัดสรรให้วิญญาณซึ่งเคยทำกรรอย่างเดียวกับบิดาของเขาในชาตินี้มาเกิด คือ เด็กคนนั้นอาจเคยตัดมือลิงในชาติใดชาติหนึ่งในอดีตมาแล้ว
2. กรรมที่รุนแรงมากย่อมหาโอกาสให้ผลโดยเร็วแต่ยังหาโอกาสสำหรับบุคคลผู้เป็นบิดาไม่ได้ จึงไปลงโทษแก้แค้นเอาที่ลูก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการทรมานจิตใจผู้เป็นบิดาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
การลงโทษของกรรมแบบนี้ เปรียบเหมือนคนผู้หนึ่งไปฆ่าบิดาอันเป็นที่รักของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มนั้นมีความพยาบาทรุนแรงเที่ยวตามบุคคลผู้ฆ่าบิดาตน แต่ไม่อาจหาพบได้ หรือบางครั้งหาพบแล้วแต่บุคคลผู้นั้นกำลังอยู่ในความแวดล้อมอารักขาของมิตรสหายมากมายเขาจึงไม่สามารถฆ่าตอบได้ จึงไปซุ่มอยู่ใกล้บ้านของบุคคลผู้ฆ่าบิดาตนเพื่อคอยโอกาสเหมาะ เมื่อเห็นบุตรของผู้นั้นออกมาจากเรือนเห็นว่าทำร้ายได้โดยง่ายและเป็นทางหนึ่งที่จะระบายความแค้นของตนให้คลายลวจึงประหารเด็กคนนั้นเสีย
ตามธรรมดาบุตรย่อมเป็นที่รักยิ่งของบิดามารดา เมื่อบุตรถูกประหารบิดาย่อมรู้สึกเสียใจปวดร้าวยิ่งกว่าถูกฆ่าเองเสียอีก
ทำนองเดียวกันนี้ กรรมที่บุคคลทำแล้วถ้าก่อความทารุณแสบเผ็ดให้แก่คนอื่นสัตว์อื่น กรรมจะพยายามให้ผลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สาหัสทันตาเห็นหากยังไม่มีโอกาสให้ผลแก่ผู้แก่ผู้ทำโดยตรงเพราะกรรมดีคอยแวดล้อมอยู่ก็จะให้ผลแก่ครอบครัว เพื่อก่อความสะเทือนใจแก่บุคคลนั้น
อนึ่ง โดยธรรมดามารดาบิดาที่เห็นลูกคลอดมามีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ไม่สมประกอบนั้น เป็นความปวดร้าวทรมานไปตลอดชีวิต คลอดมาแล้วตายเสียยังจะให้ความเสียใจเพียงครั้งเดียว การลงโทษแห่งกรรมแบบนี้เป็นการลงโทษที่แสบเผ็ดมาก

หลักสำคัญของกรรม เมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ กรรมมี 4 อย่าง คือ
1.       กรรมดำ มีวิบากดำ
2.       กรรมขาว มีวิบากขาว
3.       กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว
4.       กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ทำดำไม่ขาวและเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

มีพระพุทธาธิบายดังนี้
1. กรรมดำ ให้ผลดำ คือ กาย วาจา ใจ อันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียนเช่นนั้นเขาย่อมได้กระทบผัสสะที่มีการเบียดเบียน ย่อมได้เสวยเวทนาอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน มีความทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น สัตว์นรกทั้งหลายนี่แหละคือกรรมดำมีผลดำ
2. กรรมขาว มีผลขาว หมายถึง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของบุคคลใด ไม่มีการเบียดเบียนไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมมาเกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียน เมื่อเกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนย่อมกระทบกับผัสสะท่ไม่มีการเบียดเบียน (คือไม่มีเรื่องแห่งการเบียดเบียนกัน) เขาย่อมได้รับเวทนาอันไม่มีการเบียดเบียน (คือสุขเวทนา) เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่น เทพเจ้าเหล่าสุภกิณหะ นี่แหละคือ กรรมขาว มีผลขาว
3. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีผลทั้งคำทั้งขาว คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของบุคคลใดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียนบ้างไม่มีการเบียดเบียนบ้างย่อมกระทบกับผัสสะอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพี่อความเบียดเบียนบ้าง (คือต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง) เขาย่อมเสวยเวทนาอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ ดังเช่นมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก วินิบาตบางพวก นี่แหละคือกรรมทั้งดำทั้งขาว มีผลทั้งดำทั้งขาว
4. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีผลไม่ดำไม่ขาว คือ เจตนาที่จะละกรรมทั้งปวง ทั้งกรรมดา กรรมขาว และกรรมทั้งดำทั้งขาว กรรมเช่นนี้แหละย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น กรรมของพระอรหันต์
กรรมดำ คือ อกุศล ทุจริต
กรรมขาว คือ กุศล สุจริต
กรรมทั้งดำทั้งขาว คือ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งทุจริตและสุจริต
กรรมไม่ดำ ไม่ขาว คือ กรรมของพระอรหันต์สักแต่ว่าเป็นกิริยาไม่มีผลเป็นสุขหรือทุกข์อีกต่อไป
คนที่มีบาปมาก ไปนรก
คนมีบุญมาก ไปสวรรค์ชั้นดี
คนมีทั้งบุญและบาป มาเกิดเป็นมนุษย์เกลื่อนกล่นอยู่ด้วยสุขและทุกข์ สัตว์ดิรัจฉานบางพวกที่มีความสุขตามฐานะของตนก็เพราะมีกุศลวิบากอยู่ด้วย มนุษย์ชั้นสูงแม้จะมั่งมีแต่มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วยเพราะอกุศลวิบากติดตามอยู่ด้วยเหมือนกัน
พระอรหันต์เป็นผู้ละบุญและบาปได้การกระทำของท่านทั้งหมดเป็นเพียงกิริยา ไม่ก่อให้เกิดวิบากอันจะให้ผลต่อไปท่านอยู่เหนือความดีความชั่ว เหมือนครูซึ่งอยู่เหนือการสอบได้สอบตก ไม่ต้องดีใจเสียใจเพราะการสอบได้สอบตกนอกจากพรลอยอนุโมทนาต่อการสอบได้ของคนอื่นซึ่งยังเป็นนักเรียนอยู่
อนึ่ง โลกนี้เหมือนมหาสาครหรือมหาสมุทรซึ่งเกลื่อนกล่นอยู่ด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด บุคคลในโลกเหมือนผู้แหวกว่าอยู่ในมหาสาครอันท่านเรียกว่า สังสารสาครโอกาสที่จะเป็นเหยื่อของปลาร้าย คือ ความชั่วนี้มีมากคนทำความดี ตั้งตนไว้ชอบเปรียบเสมือนผู้อยู่เรือ ข้อนี้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทรงแสดงธรรมไว้เพื่อให้เป็นเรือหรือแพสำหรับข้ามฝั่งคนที่อาศัยเรือขึ้นฝั่งได้แล้วก็ทิ้งเรือไว้ ณ ฝั่งนั้นเอง ไม่ต้องเข็นเรือขึ้นบกหรือแบกเรือขึ้นไปด้วย
ด้วยเหตุนี้อริยสาวกเมื่อถึงฝั่ง คือ พระนิพพานแล้วก็ทิ้งเรื่อคือพระธรรมเสียด้วย ตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เราสอนให้ละแม้ซึ่งธรรมไม่ต้องกล่าวถึงอธรรม
อีกอุปมาหนึ่ง อริยบุคคลเหมือนช่างไม้ธรรมเหมือนเครื่องมือช่างไม้ เมื่อทำเรียนหรือสัมภาระที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างไม้ก็เก็บเครื่องมือเสียไม่วางเกะกะไว้
อีกอย่างหนึ่งกิเลสเปรียบเหมือนโรค ธรรมเหมือนยาบำบัดโรค เมื่อใช้ยาจนยายโรคแล้วก็ไม่ต้องใช้ยาอีกต่อไปเรียกว่าเป็นผู้ละได้ทั้งโรคและยา
พระอรหันต์ผู้ละบุญและบาปได้แล้ว จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบกรรมที่ไม่ดำไม่ขาวมีผลไม่ดำขาว
กุศลกรรมนั้นแม้จะให้ผลเป็นสุขก็จริง แต่มีความทุกข์แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่เหมือนตัวหนอนในคอกไม่ เพราะกุศลกรรมที่มีตัณหาอุปาทานเชื่อมโยงอยู่ด้วยนจั้นย่อมก่อให้เกิดภพใหม่ชาติใหม่ เมื่อมีภพมีชาติก็ต้องมี ชรา มรณะ โสก ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ ตามมาเป็นขบวน
ด้วยเหตุนี้ผู้มีปัญญา มีบารมีหรืออุปนิสัยในทางธรรม จึงมองเห็นความเกิดเป็นความทุกข์เห็นสมุทัย คือ ผล ผลดีบ้าง ชั่วบ้าง ก่อให้เกิดกิเลสต่อไปเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด พอสิ้นกิเลส กรรมก็หมด วิบากก็หมด
มาตรฐานแห่งความดีความชั่ว
อะไรคือความดี ? อะไรคือความชั่ว ? เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ซึ่งนักปราชญ์ทางนี้ได้ถกเถียงกันเป็นอันมาก และตกลงกันไม่ค่อยได้เพราะมีขอบเขตกว้างขวางมาก อะไรคือคุณธรรม ? ก็เป็นปัญหาที่ตอบยากเช่นเดียวกัน นักปราชญ์ที่ทั้งหลาย แม้เป็นศาสดาผู้ตั้งศาสนาที่มีคนนับถือทั่วโลกก็ยังบัญญัติคุณธรรมไว้ไม่ตรงกัน ยิ่งหย่อนกว้างแคบกว่ากัน
ความชั่วกับความผิด เป็นอันเดียวกันหรือไม่ ความดีกับความถูกต้อง เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือต่างกันหมายความว่าความถูกต้องอาจไม่เป็นความดีเสมอไปหรืออย่างไร ? นี่ก็เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์เช่นเดียวกัน
คนส่วนมากมักถือเอาความสุข ความสมปรารถนาในชีวิตปัจจุบันเป็นมาตรฐานวัดความดี คือ ความดีต้องมีผลออกมาเป็นความสุข ความสมปรารถนา เป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ส่วนความชั่วต้องมีผลตรงกันข้ามแต่ในความเป็นจริงแล้วไม่แน่เสมอไป ดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วย ผลภายในผลภายนอก ที่ว่าหมายถึงผลของกรรมนั้นโดยตรง
ในแง่ของพระพุทธเจ้า ทรงให้แนวคิดไว้ว่า กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลังกรรมนั้นดี บุคคลทำกรรมใดแล้วเดือดร้อนในภายหลังกรรมนั้นไม่ดี
ตามแง่นี้เราจะมองเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่าคนทำชั่วบางคนได้รับความสุขเพราะการทำชั่วนั้น ในเบื้องต้นถ้าเขาเพลิดเพลินในการทำชั่วต่อไป ไม่รีบเลิกเสียเขาจะต้องได้รับความทุกข์ในตอนปลาย ส่วนคนทำความดีบางคนได้รับความทุกข์ในเบื้องต้น แต่ถ้าเขามั่นอยู่ในความดีนั้นต่อไปไม่ยอมเลิกทำความดี เขาย่อมต้องได้รับความสุขในเบื้องปลายตรงกับข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เมื่อกรรมชั่วยังไม่ให้ผล คนชั่วอาจเห็นกรรมชั่วเป็นกรรมดี แต่เมื่อกรรมชั่วให้ผลเขาย่อมเห็นกรรมชั่วว่าเป็นกรรมชั่ว ส่วนคนดีอาจเห็นกรรมดีเป็นกรรมชั่ว เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผลแต่เมื่อใดกรรมดีให้ผลเมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีเป็นกรรมดี
โดยนัยดังกล่าวนี้ ถ้ามองกรรมและผลของกรรมในสายสั้น อาจทำความไขว้เขวบ้างในบางเรื่อง แต่ถ้ามองในสายยาว จะเห็นถูกต้องทุกเรื่องไป ความเป็นไปในชีวิตคนเป็นปฏิกิริยาแห่งกรรมของเขาทั้งสิ้น ถ้ามองในสายสั้นก็จะยังไม่เห็นแต่ถ้าเรามองเหตุผลสายยาวก็จะเห็น ทฤษฎีเรื่องการเกิดใหม่ (อันเป็นเหตุผลของกรรมในสายยาว) จึงต้องควบคู่กันไปกับเรื่องกฎแห่งกรรมแยกจากกันไม่ได้ เพราะถ้าแยกจากกันเมื่อไรบุคคลก็จะมองเห็นเหตุผลในเรื่องกรรมเพียงสายสั้นเท่านั้น สมมติว่าวันหนึ่งเป็นชาติหนึ่ง เหตุการณ์ในวันนี้อาจเกี่ยวโยงไปถึงเหตุการณ์เมื่อพันชาติมาแล้วอาจมาเกียวโยงกับเหตุการณ์ในชาตินี้อาจเกี่ยวโดยมาถึงเหตุการณ์ในวันนี้ ในทำนองเดียวกันเหตุการณ์เมื่อพันชาติมาแล้วอาจมาเกี่ยวโยงกับเหตุการณืในชาตินี้คนสามัญอาจงง แต่ท่านผู้ได้ปพเพนิวาสานุสติญาณเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับเรารู้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อนเราเรียนหนังสือมาอย่างเราจึงมามีความรู้อยู่อย่างวันนี้
ในเหตุผลสายสั้นคนขโมยเงินย่อมได้เงิน เงินมันไม่ได้ทักท้วงใครว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่วถ้ามองกันเพียงวันเดียวอาจเห็นการขโมยเป็นการดี เพราะได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขสำราญได้ แต่ผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่งคือความเดือดร้อนใจของผู้ขโมยนั่นเองซึ่งจะต้องมีอยู่อย่างแน่น ๆ ไม่ต้องสงสัย และถ้าเจ้าทรัพย์หรือตำรวจจับได้ เขาต้องได้รับโทษตามกฎหมายอาจติดคุกหรือถูกประหารชีวิต บางทีในขณะที่เขาได้รับโทษนั้น เขากำลังประกอบกรรมดีบางอย่างอยู่ ระยะเวลาห่างจากวันที่เขาขโมยถึง 200-300 วัน หรือ 2-3 ปีก็ได้ 9-10 ปีก็ได้ นี่คือตัวอย่างที่พอมองเห็นกันได้
อนึ่ง ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลในทางดีหรือไม่ดี ทางเกื้อหนุนหรือเบียดเบียน ตัวเขาเองนั่นแหละเป็นคนรู้เพราะความเกี่ยวข้องเหล่านั้นถูกเก็บรบรวมไว้ในวิญญาณอันท่านเที่ยวไปในสังสารวัตราบเท่าที่กิเลสยังมีอยู่ เมื่อเจอกันเข้าในชาติใดชาติหนึ่ง ความรู้สึกของวิญญาณย่อมบอกให้เรารู้ว่าเคยเป็นมิตร เป็นศัตรูกันมาอย่างไร
มาตรฐานเครื่องตัดสินกรรมดีกรรมชั่วอีกอย่างหนึ่งตามแง่ของพระพุทธเจ้า กรรมใดทำแล้วทำให้กิเลสพอกพูนขึ้นกรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว ส่วนกรรมใดทำแล้วเป็นไปเพื่อความขัดเกลากิเลสทำให้กิเลสเบาบางลงกรรมนั้นดี กล่าวให้ชัดอีกหน่อยหนึ่งว่า ทำอย่างใด พูดอย่างใดและคิดอย่างใด ทำให้โลภ โกรธ หลง เพิ่มพูนขึ้นในสันดานหรือในจิต อันนั้นเป็นกรรมชั่ว ส่วนกรรมดีก็ตรงกันข้าม
มาตรฐานนี้ค่อนข้างสูงหน่อย พ้นจากสำนึกของคนสามัญ กล่าวคือ คนทั่วไปไม่ค่อยนึกถึงในแง่นี้เมื่อเอาลักษณะตัดสินธรรมวินัย 8 ประการ มาพิจารณาก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่ามาตรฐานแห่งความดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่การลดโลถ โกรธ หลง ยิ่งลดได้มากเท่าใด ยิ่งดีมากเท่านั้นลดได้หมาดเกลี้ยงก็ดีถึงที่สุด
ทรงแสดงลักษณะตัดสินธรรมวินัย 8 ประการ แต่พระนางหาปชาบดี ภิกษุนีไว้ดังนี้
ธรรมใดเป็นไปเพื่อ
1.       ความกำหนัด (สราคะ)
2.       การประกอบตนอยู่ในทุกข์ (สังโยคะ)
3.       สะสมกิเลส (อาจยะ)
4.       ความมักใหญ่ อยากใหญ่ (มหิจฉตา)
5.       ความไม่สันโดษ (อสันตุฎฐิตา)
6.       ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (สังคณิกา)
7.       ความเกียจคร้าน (สัชชะ)
8.       ความเลี้ยงยาก (ทุพภรตา)
ทั้ง 8 พวกนี้ พงทราบเถิดว่า ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่คำสอนของพระศาสดาส่วยธรรมใดเป็นไปเพื่อ
1.       ความคลายกำหนัด (วิราคะ)
2.       การไม่ประกอบตนไว้ในกองกิเลส (วิสังโยคะ)
3.       การไม่สะสมกองกิเลส (อปจยะ)
4.       ความปรารถนาน้อย (อัปปิจฉตา)
5.       ความสันโดษ (สันตุฏฐิตา)
6.       การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ (อสังคณิกา)
7.       ความไม่เกียจคร้าน คือ ความเพียรติดต่อสม่ำเสมอ (วิริยารัมภะ)
8.       ความเลี้ยงง่าย (สุภรตา)
พึงทราบเถิดว่าทั้ง 8 นี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา
เมื่อเอาลักษณะทั้ง 8 ประการนี้มาตัดสินว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรเว้น อะไรควรทำแล้วจะเห็นว่ามาตรฐานแห่งกรรมดีของพระพุทธองค์นั้น อยู่ในระดับสูงและเป็นการแน่นอนว่า ความดีเช่นนี้ย่อมมีจุดจลในตัวเอง คือ ไม่ใช่ความดีเพื่อลาภยศ ชื่อเสียงหรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น แต่ความดีเพื่อความดี ความเพื่อพ้นจากความวนเวียนในสังสารวัฏ เพราะถือว่าการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น แม้จะเกิดดีเพียงไรก็ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์ ต่างกันแต่เพียงรูปแบบของความทุกข์เท่านั้น แต่ในเนื้อหาแล้วเป็นความทุกข์เหมือนกัน เช่น ชาวนาก็ทุกข์อย่างชาวนา พ่อค้า ข้าราชการ พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ล้วนแต่ต้องทุกข์ในรูปแบบของตน ๆ
                ในความหมายอย่างสูงที่ว่า ความดี เพื่อความดีนี้ ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น ซึ่งพระพุทธภาษิตที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กลฺยาณการรี กลฺยาณัง ปาปการี จ ปาปกํ
                การทำดี คือ การการทำที่ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ สิ่งที่เขาจะได้รับอย่างแน่นอน คือ คุณธรรมที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เขาทำนั่นคือการได้ดีใจของเขาย่อมสูงขึ้น สะอาด สว่าง ขึ้นตามสัดส่วนแห่งคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น
                เสียงสรรเสริญก็ไม่ใช่เครื่องวัดความดีที่แน่นอนเสมอไป ในหมู่โจรย่อมสรรเสริญโจรที่เก่งกล้า อันธพาลที่สามารถคุมอันธพาลด้วยกันได้ ย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากกลุ่มอันธพาลด้วยกัน บัณฑิตย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากหมู่บัณฑิตแต่ได้รับเสียงติเตียนจากหมู่คนพาล
                ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้รับสรรเสริญจึงต้องพิจารณาดูก่อนว่า ใครเป็นผู้สรรเสริญ ถ้าบัณฑิตสรรเสริญก็เชื่อได้ ว่าเสียงสรรเสริญนั้นมาจากคุณธรรมหรือการทำความดี
                การทำชั่ว คือ การกระทำที่ไร้คุณธรรมที่ว่าได้ชั่วก็เพราะมีนิสัยชั่วเกิดขึ้นในจิต ถ้าทำบ่อย ๆ นิสัยชั่วก็พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนเกาะแน่นเป็นลักษณะนิสัยของผู้นั้นยากที่จะแก้ไขได้เหมือนดินพอกหางหมู ความชั่วหรือนิสัยชั่วที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ นั้นย่อมชักนำเขาไปในทางที่ชั่ว ในที่สุดเขาก็จะพบกับหายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราวิบากชั่วซึ่งแฝงอยู่ในจิตของเขานั่นเอง จะคอยกระซิบกระตุ้นเตือนให้บุคคลผู้นั้น คิด พูด การทำสิ่งสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลร้าย คือ ทำให้เขาตัดสินใจผิดก้าวผิดเมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผลเพราะวิบากแก่กล้าสุกรอบแล้วนั้น แม้คนมีปัญญาก็อับปัญญา ซึ่งท่านเปรียบว่านกแร้งมีสายตาไกล สามารถมองเห็นซกศพได้เป็นร้อย ๆ โยชน์ แต่พอถึงคราวเคราะห์ร้าย (ถึงคราวกรรมจะให้ผล) บ่วงอยู่ใกล้ก็มองไม่เห็น เดินเข้าไปติดบ่วงจนได้ ตรงกันข้ามถ้าถึงคราวกรรมดีจะให้ผล วิบากแห่งกรรมซึ่งสั่งสมอยู่ในจิตย่อมบันดาลให้เขาทำ พูด คิดไปในทางที่ถูกอันจะนำไปสู่ผลดีอันนั้น
                พิจารณาในแง่นี้แล้ว ควรเว้นกรรมชั่วสั่งสมแต่กรรมดีเพื่อจะได้มีวิบากอันดีอยู่ในจิต นี่คือการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ย้ำอีกทีว่าคนประพฤติกระทำอย่างใดย่อมได้ความเป็นอย่างนั้นขึ้นในตน เช่น หัดเป็นโจร เป็นนักเลง ย่อมได้ความเป็นโจรเป็นนักเลงขึ้นในตน หัดเป็นคนดีในทางไหนย่อมได้ความเป็นคนดีในทางนั้นขึ้นในตน
                ด้วยเหตุนี้คนที่มีความปรารถนาจะเป็นอย่างใดแล้ว เริ่มหัดประพฤติกระทำอยู่เสมอ ๆ เขาย่อมได้เป็นอย่างนั้นอย่างแน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เร็วหรือช้าสุดแล้วแต่คุณสมบัตินั้นจะสุกรอบหรือแก่กล้า (Maturation) เมื่อใด นี่คือคำอธิบายพระพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ย่อมต้องรับมรดกแห่งกรรมนั้น

กรรมทำให้คนแตกต่างกัน
ตามที่กล่าวมาพอจะทำให้มองเห็นได้บ้างแล้วว่าที่บุคคลต่างกันก็เพราะแต่ละคนมีความปรารถนา มีการสั่งสมกรรมไม่เหมือนกัน ทีแกเขากระทำกรรมลงก่อนต่อมาภายหลังกรรมนั่นเองได้ยอกย้อนมาจำแนกเขาผู้ทำให้เป็นต่าง ๆ ตามชนิดแห่งกรรมที่บุคคลนั้น ๆ ได้ทำลงไปดังที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า
                ดูก่อนมานพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตนผู้เป็นต้องรับมรดกแห่งกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ พวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนั่นเองย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายในเลวบ้าง ให้ดีบ้าง สมฺมสฺ มาณว สตฺตา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา กมฺมํ สตฺเต วภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
                ที่ว่ามีกรรมเป็นของตนนั้น คือ เป็นเจ้าของแห่งกรรมของอย่างอื่น เช่น เงินทอง ทรัพย์สมบัติภายนอกเราเพียงอาศัยใช้ชั่วคราว เมื่อตายหาได้ตัดตัวไปได้ไม่ มีแต่กรรมดี กรรมชั่วเท่านั้นที่จะติดตามวิญญาณไปทุกแห่งทุกชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นอะไร สมบัติของเราจริง ๆ คือกรมมดี กรรมชั่วที่เราทำหาใช่ทรัพย์สมบัติภายนอกไม่
                มรดกอย่างอื่น เช่น มรดกในทรัพย์สินที่คนอื่นเขาจะมอบให้ ก็เป็นของไม่แน่นอน แต่กรรมที่เราทำแล้ว จะมอบให้คนอื่นก็ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คนเป็นมะเร็งได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสลูกเมีย พี่น้องได้แต่นั่งคอยดู จะแบ่งมาเป็นของจนบ้างก็ไม่ได้ คนทีมีญาติมาก ๆ และญาติรัก ถ้าแบ่งความเจ็บไปได้ เขาคงแบ่งกันไปคนละนิดคนละหน่อย คนป่วยคงหายแต่เพราะกรรมเป็นของ ๆ ตนและบุคคลต้องรับมรดกแห่งกรรม ใครทำกรรมอย่างใดไว้จึงต้องรับกรรมอย่างนั้นไป ลูกเมีย (ผัว) พ่อแม่ พี่น้องก็ไม่อาจแบ่งผลแห่งกรรมนั้นไปได้ แม้หมอก็ช่วยไม่ได้
                ข้อว่ามีกรรมเป็นแดนเกิดหรือเกิดมาเพราะกรรม (กมฺมโยนิ) นั้น อธิบายว่า คนเราเกิดมาเพราะยังมีกรรมอยู่ คือ ยังมีกิเลส มีกรรมและมีวิบาก คือ ผลของกรรม ผลของกรรมนั้นย่อมส่งวิญญาณให้เกิดในที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมแก่กรรมวิญญาณย่อมปฏิสนธิในที่ ๆ เหมาะสมแก่กรรมของตน คนไม่มีกรรมแล้วเช่นพระอรหันต์ย่อมไม่เกิดอีก มารดาบิดาเป็นเพียงที่อาศัยเกิดของบุคคลผู้ยังมีกรรมอยู่ บางรายก็เคยเป็นบุตรเป็นมารดาบิบากันมาหลายร้อยชาติแล้ว บางรายอุปนิสัยแห่งบุตรธิดา ไม่เหมือนมารดาบิดาเลย อุปนิสัยแห่งบุคคลแสดงถึงผลรวมแห่งกรรมของเขาที่เคยสั่งสมไว้ ในรายที่ลูกมีอุปนิสัยคล้ายคลึงหรือเหมือนพ่อแม่ แสดงว่าเขาได้เคยอบรมตนอย่างเดียวกันมาและมาเกิดเป็นพ่อแม่ พี่น้องกันอีก บางรายก็เพราะการปลูกฝังอย่างหนักแน่นรุนแรงในปัจจุบันแต่ถ้าคนไม่มีอุนิสัยในทางนั้นอยู่บ้างแล้ว มักจะปลูกฝังไม่สำเร็จ เพราะเขาไม่ยอมรับการปลูกฝัง บุคคลย่อมมีอิสระในการทำชั่วหรือทำดีตามอุปนิสัยของตน(Free will)
                อย่างไรก็ตามมารดาบิดาที่ดี ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อบุตรธิดาอย่างประมาณมิได้ เพราะได้ทุ่มเทความรักความปรานี ความเสียสละให้แก่ลูกอย่างหาใครเสมอเหมือนมิได้เป็นเวบานานปีหรืออาจกล่าวได้ว่าตลอดชีวิตของท่าน แต่มารดาบิดาก็ไม่สามารถช่วยให้ลูกดีได้ทุกคน ถ้าวิญญาณของลูกสั่งสมเอาอุปนิสัยชั่วติดสันดานมาอย่างเนียวแน่น ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่เลวก็ไม่สามารถทำให้เลวได้ทุกคน ลูกคนใดมีอุปนิสัยดีเลิศติดตัวมาเขาย่อมไม่เอาอย่างการกระทำที่เลวขอวพ่อแม่ เพราะขัดกับอุปนิสัยของเขาและในไม่ช้าเขาก็ต้องปลีกตัวไปอยู่ในที่อันเหมาะสมแก่เขาจนได้ นี่แหละกรรมเป็นแดนเกิดของคนมองให้ดีเถิดจะเห็นจริงตามพระญาณของพระพุทธเจ้า ผู้บรมศาสดา
                ข้อว่ามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พี่น้องนั้น อธิบายว่าพี่น้องโดยสายโลหิตของเรา อาจช่วยเราได้บ้าง ช่วยไม่ได้บ้าง เป็นมิตรกันบ้าง เป็นศัตรูกันบ้าง ช่วยเหลือกันบ้าง เบียดเบียนกันบ้าง เมื่อเติบโตขึ้นมาต่างก็แยกย้ายกันไป บางรายห่างกันคนละประเทศ คนละทวีปก็มี มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นก็ขึ้นก็ช่วยกันไม่ค่อยทัน ถ้าช่วยทันเขาก็ช่วยได้เฉพาะในวิสัยของเขาเท่านั้น พ้นวิสัยแล้ว เขาก็ช่วยไม่ได้ พี่ฉลาด น้องโง่ น้องฉลาด พี่โง่ ไม่แน่นอนแต่พวกพ้องผ่าพันธุ์ ที่อยู่กับเราตลอดเวลา คอยคุ้มครองรักษาเราอยู่ตลอดเวลาทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น คอยช่วยเหลือให้เจริญรุ่งเรืองจริง ๆ คือกรรมของเรา
                บางคนพวกพ้องญาติพี่น้องไม่ดี แต่ตัวเขาเป็นคนดี บางคนญาติพี่น้อง เผ่าพันธุ์ดี ตระกูลดี แต่ตัวเขากลับตกต่ำจนเข้าพี่น้องไม่ได้ก็มี ทั้งนี้เพราะพี่น้องเผ่าพันธุ์ของเขาจริง ๆ คือกรรมของเขานั่นเอง เขาจึงต้องอยู่กับกรรมของเขา
                ข้อว่ามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย (กมฺมปฏิสรโณ) นั้นความว่า ที่พึ่งอย่างอื่นให้บุคคลพักพิงได้เพียงชั่วคราวพ่อแม่เต็มใจให้เราพึ่งก็เฉพาะเมื่อเราอยู่ในปฐมวัย พอเป็นผู้ใหญ่แล้วถ้ายังพึ่งท่านอยู่อีก ท่านก็รังเกียจ คนอื่นก็ดูหมิ่น จะพึ่งญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็ได้เป็นครั่งคราวพึ่งเขาบ่อบนักก็ไม่พ้นการถูกดูหมิ่นติเตียน แต่กรรมของเรานั่นแหละเป็นที่พึ่งของเราได้ตลอดชีวิตเป็นที่พึ่งได้ทุก ๆ ชาติ
                คนที่กรรมไม่ยอมให้พึ่งแล้ว ถึงใคร ๆ อื่นก็ไม่อาจให้ที่พึ่งได้ มันมีอันให้วิบัติขัดข้องไปหมด  ส่วนคนที่กรรมอุปถัมภ์แล้ว ใครจะทำลายก็ไม่ได้ ยิ่งกดยิ่งฟู ยิ่งบังยิ่งเห็น ยิ่งมีคนคิดร้ายยิ่งได้ดี
                เพี่อประกอบคำกล่าวนี้ ขอนำเรื่องต่อไปนี้มาเป็นอุทาหรณ์ เรื่องทำนองนี้มีเหตุผลพอเชื่อได้ว่า เกิดได้จริงเป็นไปได้จริง เมื่อมองกรรมในเหตุผลสายยาวแล้ว เป็นเรื่องที่น่าใส่ใจมาก
               
ผลแห่งกรรมตามนัยแห่งจูฬกัมมวัภังคสูตร
ในจูฬกัมมาวิภังคสูตร มิชฌิมนิกาย อปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 หน้า 376 พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่สุภมานพถึงเหตุที่บุคคลและสัตว์ทั้งหลายแตกต่างกันเพราะกรรมของตน ๆ มีนัยดังนี้
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนั่นแหละจำแนกสัตว์ให้ทรามและดี
สุภมานพทูลว่า ข้อความที่ทรงแสดงนั่นยังย่อนักขอให้ทรงแสดงโดยพิสดาร เพื่อเขาจักได้เข้าใจโดยแจ่มแจ้ง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโดยพิสดา แต่ในที่นี้จะขอย่อความมาดังนี้
1. บุคคลบางคน มีปรกติฆ่าสัตว์ มีในทารุณโหดร้าย เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีอายุสั้น
2. บุคคลบางคน มีปรกติเว้นจากการฆ่าสัตว์มีในเอ็นดูกรุณาต่อสัตว์ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีอายุยืน
3. บุคคลบางคน ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้เดือดร้อนลำบาก เมื่สิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีโรคมาก
4. บุคคลบางคน ไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์  เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เป็นผู้มีโรคน้อย
5.  บุคคลบางคน  มักโกรธ  มากไปด้วยความแค้นใจ  เมื่อสิ้นชีพย่อมไปนรก  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้มี ผิวพรรณทราม คือผิวไม่สวย
6.  บุคคลบางคน  ไม่มักโกรธ  ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ  ไม่ด่าตอบ  ไม่โกรธ  ไม่พยาบาท  มีใจอ่อนโยน  ไม่กระด้าง  เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เป็นผู้มีรูปร่างผิวพรรณงาม  น่าดู  น่าเลื่อมใส
7.  บุคคลบางคน  มีใจมักริษยาเขา  มีใจคิดประทุษร้ายเขา  อยากให้สมบัติของเขาพินาศ  เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก  เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีศักดิ์น้อย  วาสนาน้อย
8.  บุคคลบางคน  ไม่ริษยาเขาในลาภ  สักการะ  ความนับถือ  ไม่คิดประทุษร้ายเขา  ไม่อยากให้สมบัติเขาพินาศ  เมื่อสิ้นชีพ  ย่อมไปสวรรค์  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มีศักดิ์สูง
9.  บุคคลบางคนตระหนี่เหนียวแน่น  ไม่ให้ทานไม่สงเคราะห์  คนที่ควรสงเคราะห์  เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ย่อมเป็นผู้ยากจน  มีโภคะน้อยมีสมบัติน้อย
10.บุคคลบางคนเป็นผู้มีใจเสียสละ  ชอบให้ทานสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์      เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เป็นผู้มั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ
11.บุคคลบางคน  ถือตัวจัด  กระด้าง  ไม่เคารพผู้ควรเคารพ  เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เกิดในตระกูลต่ำ
12.บุคคลบางคน  ไม่กระด้าง  ไม่ถือตัวจัด  เคารพคนที่ควรเคารพ  เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เกิดในตระกูลสูง
13.บุคคลบางคน  ไม่ชอบสอบถามความสงสัยของตนกับท่านผู้รู้ผู้ฉลาด  ไม่ไต่ถามว่า  อะไรเป็นกุศล  อกุศล  อะไรควรประพฤติ  อะไรไม่ควรประพฤติ  อะไรมีโทษ  อะไรไม่มีโทษ  เมื่อสิ้นชีพเขาย่อมตกนรก  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก็เป็นผู้โง่เขลา
14. บุคคลบางคน มีนิสัยชอบสอบถามท่านผู้รู้หมั่นเขาหาท่ารผู้รู้ ฯลฯ เมื่อสิ้นชีพย่อมเขาย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้ฉลาด รอบรู้ แหลมคม มีปัญญามาก
พระศาสดาตรัสในตอนท้ายพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนมานพ ปฎิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอายุน้อยก็นำบุคคลไปสู่ความเป็นผู้มีอายุน้อย ฯลฯ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญามาก ดูก่อนมานพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน...กรรมจำแนกสัตว์ให้ทรามและดี
ตามนัยแห่งพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่าบุคคลสั่งสมกรรมอย่างใด ย่อมได้รับผลแห่งกรรมอย่างนั้นของตน ประกอบกรรมอันนำไปสู่ความเป็นอย่างใด ย่อมได้รับความเป็นอย่างนั้น สรุปลงในหลักสั้น ๆ ที่ว่า ทำดีได้รับผลดี ทำชั่วได้รับผลชั่ว
เมื่อพูดถึงจูฬมฃกัมมวิภังคสูตรแล้วก็ควรพูดถึงมหากัมมวิภังคสูตรเสียด้วย ในมหากัมมวิภัวงคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม 14 หน้า 389 กล่าวถึงข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมและผลของกรรมแก่พระอานนท์ คือ ตรัสกับพระอานนท์ ใจความว่า
มีบุคคลอยู่ 4 จำพวก คือ
1. ผู้ทำชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ ตายแล้วไปนรกก็มี ทั้งนี้ เพราะบุคคลพวกนี้ได้ทำกรรมชั่วต่อเนื่องกันมากตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ
2. ผู้ทำชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ ตายแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะบุคคลพวกนี้ ทำกุศบกรรมไว้มากในชาติก่อน ๆ กุศลกรรมนั้นยังมีแรงให้ผลอยู่ส่วนกรรมชั่วที่เขาทำใหม่ ยังไม่ทันให้ผล
3. ผู้ทำสุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ เมื่อสิ้นชีพแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะบุคคลพวกนี้ได้ทำความดีติดต่อกันมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงชาติปัจจุบัน
4. ผู้ทำความดีทางกาย วาจา ใจ ตายแล้วไปนรกก็มีเพราะคนพวกนี้ ได้ทำความชั่วไว้มากในชาติก่อน ๆ อกุศลกรรมนั้นยังมีแรงให้ผล็อยู่ กุศลกรรมที่เขาทำใหม่ยังไม่มีโอกาสให้ผล
อนึ่ง นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้วขณะจิตที่จวนตาย ยังมีส่วนประกอบอีก คือในขณะที่จวนจะตาย ถ้าจิตของผู้ใดยึดมั่นอยู่ในกุศลกรรม ผู้นั่นย่อมไปสู่สุคติสวรรค์ก่อน จิตของผู้ใดยึดมั่นอยู่ในอกุศลกรรม ผู้นั้นย่อมไปนรกก่อนตามอิทธิพลของอาสันนกรรม ดังอธิบายมาแล้วในเบื้องต้น
ข้อความในวัตถูปมสูตร ยืนยันความสำคัญของจิตเมื่อจวนตายอีกเหมือนกันว่า
จิตฺเต สงฺกิลฎฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกังฺขา จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ หาฏิกงฺขา แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว แม้ชีวิตปัจจุบันก็มองเห็นความจริงข้อนี้ได้
เรื่องชีวิตและกรรมมีความสลับซับซ้อนมากดังพรรณนามา คนที่มองชีวิตและกรรมในสายสั้น จึงไม่มองอาจเข้าใจชีวิตและกรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยตลอดได้
แม้ผู้ได้ญาณระลึกชาติหนหลังได้ (ปุพเพนวาสานุสสติญาณ) และได้ญาณรู้อนาคต (อนาคตัวสญาณ) แต่ได้เพียงระยะสั้นเพียงชาติเดียวสองชาติก็ยังหลงเข้าในผิดได้เพราะเห็นผู้ประกอบกรรมชั่วในปัจจุบันบางคนตายแล้วไปบังเกิดในสวรรค์เห็นผู้ทำกรรมดีบางคนตายแล้วเกิดในนรก เขาไม่มีญาณที่ไกลกว่านั้น จึงไม่อาจเห็นกรรมและชีวิตได้ตลอดสายได้ ส่วนผู้มีญาณทั้งในอดีตและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด เช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถเห็นกรรมและชีวิตได้ตลอดสาย ทรงสามารถชี้ได้ว่า ผลอย่างนี้ ๆ มาจากกรรมอย่างใด
มีตัอย่างแห่งกรรมมากมายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า บุคคลนั้น ๆ ได้ประสบผลดี ผลชั่วอย่างนั้น ๆ เพระได้ทำกรรมมาแล้วอย่างนั้น ๆ อันแสดงถึงผลกรรมที่สามารถให้ผลข้ามภพข้ามชาติ จะขอนำบางเรื่องมาประกอบการพิจารณา
1.  ภิกษุรูปหนึ่ง  ชื่อจักขุบาล  ท่านทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรค  จนตาบอดทั้งสองข้าง  พร้อมกับสำเร็จเป็นพระอรหันต์  พระพุทธเจ้า  ทรงแสดงว่าเป็นผลของกรรมที่  เมื่อชาติก่อนชาติหนึ่ง  พระจักขุบาลเป็นหมอรักษาโรคตา  ประกอบยาให้คนป่วยตาบอดโดยเจตนาเพราะคนป่วยทำทีบิดพลิ้วจะไม่ให้ค่ารักษา  เรื่องนี้ปรากฏในอรราถกถาธรรมบทภาค 1 เรื่องจักขุบาล
                2.  ชายคนหนึ่ง  ชื่อจุนทะ  มีอาชีพทางฆ่าหมูขาย  คราวหนึ่งป่วยหนึก  ลงคลานสี่ขา  ร้องครวญครางเสียงเหมือนหมูทุกข์ทรมานอยู่หลายวันจึงตาย  เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทภาค 1 เรื่อง จุนทสูกริก
                3.  ชายคนหนึ่ง  มีอาชีพทางฆ่าโคขายเนื้อ   วันหนึ่ง  เนื้อที่เก็บไว้เพื่อบริโภคเอง  เพื่อนมาเอาไปเสีย  โดยถือวิสสาสะจึงถือมีดลงไปตัดลิ้นโคที่อยู่หลังบ้านมาให้ภรรยาทำเป็นอาหาร  ขณะที่เขากำลังบริโภคอาหารอยู่นั้น  ลิ้นของเขาได้ขาดหล่นลงมา  เขาคลาน 4 ขาเหมือนโค  ร้องครวญคราง  ทุกข์ทรมานแสนสาหัส  และสิ้นชีพพร้อมกับโคหลังบ้าน  เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท  ภาค 7 เรื่องบุตรของนายโคฆาต
                4.  ภิกษุรูปหนึ่ง  ชื่อติสสะ  เป็นแผลเปื่อยพุพองรักษาไม่หาย  พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ไปช่วยดูแล  ให้อาบน้ำอุ่นแสดงธรรมให้ฟัง   พระติสสะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับนิพพานในวันนั้น   พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นแผลพุพองนั้นเพราะชาติก่อน  พระติสสะเป็นพรานนก  จับนกขายเป็นอาหาร  ที่เหลือก็หักปีก  หักขาไว้เพื่อไม่ให้มันหนี  เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ภาค 2 เรื่องปูติคัตตติสสะ
                5.  พระนางโรหิณี  พระขนิษฐาของพระอนุรทธะพระญาติของพระพุทธเจ้า  ทรงเป็นโรคผิวหนังอย่างแรงทรงละอายจนไม่ปรารถนาพบผู้ใด  เมื่อพระอนุรุถทธเถระมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์  พวกพระญาติต่างก็มาชุมนุมกัน  เว้นแต่พระนางโรหิณี  พระอนุรุทธะจึงถามหา  ทราบความว่าพระนางเป็นโรคผิวหนัง  พระเถระให้เชิญพระนางออกมาแล้วทรงแนะนำให้ทำบุญ  โดยให้ขายเครื่องประดับต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่  แล้วนำทรัพย์มาสร้างศาล  โรงฉัน  ท่านขอแรง  พระญาติที่เป็นชาย  ให้ช่วยกันทำโรงฉัน
                พระนางโรหิณีทรงเชื่อ  เมื่อสร้างโรงฉันสองชั้นเสร็จแล้ว  ทรงปัดกวาดเอง  ทรงตั้งน้ำใช้น้ำฉันสำหรับพระภิกษุสงฆ์เองถวายขาทนียะ  โภชนียาหารแก่ภิกษุสงฆ์เป็ฯประจำทุกวัน  โรคผิวหนังของพระนางค่อย ๆ หายไปทีละน้อยจนเกลี้ยงเกลา  โรคนี้เป็นโรคที่เกิดแต่กรรม  ต้องเอาบุญมาช่วยรัษาลดอิทธิพลแห่งกรรม  จนไม่มีอานุภาพในการให้ผลอีกต่อไป เหมือนคนกินยาเข้าไปปราบเชื้อโรค 
                วันหนึ่ง  พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยที่โรงฉันของพระนางโรหิณี  ตรัสให้พระนางทราบว่าโรคนั้นเกิดขึ้นเพราะกรรมของพระนางเอง 
                ในอดีตกาล  พระนางโรหิณีเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี  มีจิตริษยาหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งของพระราชา  ได้ทำเองด้วย  ให้คนอื่นทำด้วย  คือการเอาผงเต่าร้าง  หรือหมามุ้ย  โรงลงสรีระของหญิงนักฟ้อนคนโปรดของพระราชา  นอกจากนี้ยังให้บริวารเาอผงเต่าร้างไปโปรยบนที่นอนของหญิงนักฟ้อนคนนั้นอีกด้วย
                หญิงนักฟ้อนคันมาก  เป็นผื่นพุพองขึ้นมา  ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส           นี่คือปุพพกรรมของพระนางโรหิณี  พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า  พึงละความโกรธ  ความถือตัวเสีย  เรื่องนี้ปรากกฎในอรรถกถาธรรมบท  ภาค 6 เรื่อง พระนางโรหิณี
                6.  ในอรรถกถาสาราณียธรรมสูตร  ภาค 3 หน้า 110-112   เล่าไว้ว่า  ในพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่ง  มีนิสัยชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ได้ปัจจัยอะไรมาก็แบ่งปันแก่ภิกษุอื่นเสมอ ๆ ด้วยอานิสงส์นี้  ท่านกลายเป็นผู้มีโชคดีในเรื่องลาภอย่างประหลาด  ในที่บางแห่ง  ภิกษุอื่นไปบิณฑบาตไม่ได้อาหารอะไร ๆ เลย  แต่พอภิกษุรูปนั้นไป  ปรากฎว่ามีคนมีจิตคิดบุญใส่บาตรรให้ท่านจนเต็ม  ท่านได้นำอาหารเหล่านั้นมาแบ่งให้ภิกษุอื่น ๆ จนหมด
                คราวหนึ่ง  พระเจ้าแผ่นดิน  มีพระประสงคืจะถวายผ้าแก่พระทั้งวัด  มีผ้าเนื้อดีที่สุดอยู่ 2 ผืน  (คงจะเป็นผ้านุ่ง คือ  สบงผืนหนึ่ง) พระรูปนั้นทราบเข้า จึงพูดไว้ล่วงหน้าว่า ผ้าเนื้อดี 2 ผืนนั้นจะต้องตกมาถึงท่านอย่างแน่นอน อำมาตย์ได้ทราบเรื่องไปทูลกระซิบพระราชา พระราชาเป็นผู้ถวายผ้าเอง ก็ทรงสังเกตผ้าที่วางซ้อน ๆ กันอยู่ พอมาถึงลำดับภิกษถหนุ่มรูปนั้น ก็เป็นผ้าเนื้อดีทั้งสองผืน ทั้งอำมาตย์และพระราชาต่างมองหน้ากัน เป็นเชิงประหลาดใจเมื่อทำพิธีถวายผ้าเสร็จแล้ว พระราชาเสด็จเข้าไปหาภิกษุหนุ่มรูปนั้นด้วยเข้าพระทัยเป็นพระอรหันต์มีญาณวิเศษอย่างแน่นอน จึงตรัสถามว่าพระคุณเจ้าได้บรรลุโลกุตตรธรรมตั้งแต่เมื่อไร ภิกษุหนุ่มถวายพระพรว่า ยังไม่ได้บรรละอะไรเลย แต่ที่รู้ว่าผ้าเนื้อดีจะต้องตกแก่ตนนั้นก็เพราะท่านเป็นผู้บำเพ็ญสาราณียธรรม คือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เป็นนิตย์ ตั้งแต่เริ่มบำเพ็ญมาก็ได้ผลอย่างประหลาดอยู่เสมออะไรที่ดีที่สุด ถ้ามีการแจกกันโดยไม่เจาะจง สิ่งนั้นก็ต้องตกมาถึงท่านพระราชาทรงชื่นชมยินดีและทรงอนุโมทนา
                7. ในคัมภีร์อปทาน (อันเป็นพระประวัติที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเองถึงเรื่องในอดีตของพระองค์) พระไตรปิฎกเล่ม 32 ตั้งแต่หน้า 471 พระองค์ได้ทรงเปิเผยถึงอดีตกรรมของพระองค์ อันเป็ฯเหตุบันดาลให้เกิดผลแก่พระองค์ในปัจจุบันมากเรื่องด้วยกัน ขอนำมากล่าวเพียงบางเรื่องดังนี้
                7.1 ชาติหนึ่งพระองค์เป็นนักเลงชื่อปุนาลิ กล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายพระองค์เลยแม้แต่น้อย ผลของกรรมนั้นทำให้พระองค์ต้องตกนรกอยู่นาน ในพระชาติสุดท้ายถูกนางสุนทรีใส่ความว่าพระองค์ได้เสียกับนางเป็นเรื่องอื้อฉาวมากเรื่องหนึ่งในพุทธกาล
                7.2 ชาติหนึ่งพระองค์ได้ใส่ความสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสัพพาภิภู (พระนามของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ชื่อสาวก) สาวกนี้นชื่อนันทะ ด้วยผลกรรมนั้นพระองค์ต้องตกนรกอยู่นาน ในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ความว่าได้เสียกับนางในพระคันธกุฎีจนนางมีครรภ์ เป็นเรื่องอื้อ) ฉาวที่สุดในพุทธกาล
                7.3 ชาติหนึ่งพระองค์ทรงฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะอยากได้ทรัพย์เพียงผู้เดียว โดยผลักน้องชายลงซอกเขาเอาหินทุ่ม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงถูกพระเทวทัตปองร้ายเอาศิลาทุ่ม แต่เพราะกรรมนั้นเบาบางมากแล้ว จึงไม่ถูกอย่างจัง ถูกเพียงสะเก็ดเล็กน้อยที่นิ้วพระบาทเท่านั้น

ผลแห่งกรรมที่พิสูจน์ได้ในปัจจุบัน
                มีเรื่องราวอยู่มากมายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตคนอันแสดงให้เห็นถึงผลของกรรมอันพิสูจน์ได้ในปัจจุบัน คนที่รู้เรื่องนี้ดีกว่าใครหมดก็คือตัวของตัวเอง คือ ผู้ทำกรรมนั่นเอง ผลชั่วบางอย่างมาเผาอยู่ที่ใจ แม้คนภายนอกไม่รู้ไม่เห็นแต่ตัวเองตัวเองย่อมรู้เห็นอยู่ทุกวัน ผลดีบางอย่างคนอื่นไม่เห็น แต่มันมาคอยปลอบประโลมให้ความอบอุ่นใจ เย็นใจแก่ผู้ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเหมือนโรคภายใน โรคภายนอก และสุขภาพที่ดีหรือสุขภาพที่เลวของแต่ละคนนั่นแหละ คนที่ซาบซึ้งดีที่สุดคือตัวของตัว
                มีผลกรรมบางอย่างซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งทั้งแก่ตนเองและคนทั้งหลายอื่น เห็นผลแลัวสาวหาเหตุได้แน่ชัดต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการให้ผลของกรรมดังกล่าวซึ่งข้าพเจ้าขอรวบรวมมาไว้ในที่นี้เฉพาะบางเรื่อง
                1. ในงานฌาปนกิจศพที่วัดมะกอกหรือวัดอภัยทายาราม ข้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเจ้าภาพได้มอบเงินให้ทางโรงครัวของวัดเป็นผู้จัดการเรื่องอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนโดยมีหญิงวัย 40 คนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมและจ่ายของ  แม่ครัวผู้นั้นได้ไปซื้อเนื้อมาเตรียม ๆ ไว้ 7 กิโล คงจะยังไม่ได้เก็บให้ดี สุนัขตัวหนึ่งมากินเนื้อหมด หญิงแม่ครัวโกรธแค้นมากผูกอาฆาตว่าจะฆ่ามันให้ได้ เจ้าภาพบอกว่า เมื่อหมามันกินเนื้อเสียก็ช่างมันเถอะ จะไปซื้อมาให้ใหม่ ขอให้ทำอย่างอื่นไปก่อน
                แต่แม่ครัวผู้นั้นหายอมไม่ เมื่อเจ้าภาพออกไปแล้วนางจงจัดแจงต้มน้ำร้อนด้วยหม้ออวยใบใหญ่แล้วแกก็ออกไปซื้อเนื้อมาหนึ่งกิโล หั่นไว้เป็นชิ้น ๆ พอน้ำร้อนเดือดพล่านดีสมใจแล้วแกก็เอาชิ้นเนื้อที่หั่นไว้ไปโยนล่อสุนัขตัวนั้น มันติดว่าคนเมตตามัน- มันจึงตามกินเหยื่อล่อใกล้เข้ามาก ๆ จนถึงใกล้หม้อน้ำซึ่งกำลังเดือด ขณะที่มันกำลังกินเหยื่อก้มหน้าก้มตาขบเคี้ยวอยู่นั้น หญิงแม่ครัวยกหม้อน้ำร้อยเทราดตัวมันอย่างสะใจ น้ำร้อนรดลวกจนทั่วตัวขนหลุดร่วง เนื่อหนังสุกไปทั่งตัวกระโดดโหยงขึ้นสุดตัวแล้วกระเสือกกระสนไปนอนตายในที่ไม่ไกลนัก หญิงนั้นมีท่าทางสะใจ
                คืนแรกที่ตั้งศพสวดพระอภิธรรมผ่านพ้นไปโดยเรียบร้อย ในวันรุ่งขึ้น รายการบำเพ็ญกุศลเป็นไปตามกำหนดตอนเลี้ยงเพลมีการลำเลียงอาหารที่ต้มแกงจากข้างล่างเสร็จแล้วส่งขึ้นไปตักจัดตระเตรียมบนศาลาการเปรียญ พวกคนครัวเป็นผู้ส่งจากข้างล่าง คนบนศาลาคอยรับไปตักจัดใส่ภาชนะโดยส่งและรับกันเป็นชามกะละมังและเป็นเข่งกันทีเดียว
                แม่ครัวคนที่เอาน้ำร้อนลวก สุนัขแกคงลืมเรื่องราวไปแล้ว ได้ยกหม้อข้าวหม้อแกงลำเลียงส่งร่วมกับคนอื่นด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส แกปรี่เข้าไปยกหม้อแกงขนาดใหญ่ที่กำลังร้อนระอุตั้งอยู่บนเตา ออกแรงยกเอามาชูส่งขึ้นไปบนศาลา สองแขนชูหม้อแกงขึ้นสูงอยู่ระดับเหมือศีรษะเล็กน้อย ทัดใดนั้นมีชายคนหนึ่งที่อยู่บนศาลาก้มลงมาเอื้อมมือจะจับที่หูหิ้วทั้งสองข้างคนรับยังไม่ทันรับ แต่คนส่งคงคิดว่าเขารับแล้วจึงปล่อยมือ หม้อแกงเอียงคว่ำเทราดลงมาตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า แกก้มลงสะบัดตัวดิ้นเร่า ๆ เนื้อหนังแดงสุกไปทั่ว คนหลายคนรีบพานางส่งโรงพยาบาลแต่สายไปเสียแล้วช่วยอะไรไม่ได้ แกมีชีวิตต่อมาอีกเพียง 3 ชั่วโมงก็ขาดใจตาย เพราะทนพิษความทุกข์ทรมานไม่ไหว
                2. หลายปีมาแล้วมีข้าราชการคนหนึ่ง รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขาเป็นคนใจเหี้ยมโหดเขาดเมตตากรุณาต่อสัตว์ โดยเฉพาะหมาแมวเขาจงเกลียดจงชังนัก เมื่อเขาพบเข้าจะรับแกมันทันที เตะบ้าง ปาด้วยท่อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน สุดแล้วแต่จะทำอย่างไรได้สะดวกในเวลานี้น เพื่อนจะเตือนด้วยความหวังดีสักเท่าไรเขาก็หาฟังไม่
                บ่ายวันหนึ่ง เขาเจอแมวดำตัวหนึ่ง กำลังหลับอยู่ใต่ร่มไม่ใบดก คนใจบาปเกิดมันเขี้ยวขึ้นมาทันที เขาเดินไปหาก้อนอิฐขนาดใหญ่มาเหวี่ยงทุ่มแมวเคราะห์ร้ายด้วยกำลังแรง มันสะดุ้งโหยงแล้วชักดิ้นชักงอตายไปทันที
                เวลาล่วงไป 4-5 เดือน ชายคนนั้นป่วยเป็นโรค ชักกระตุก ดิ้จงอไปมา หายใจไม่ออก ทางบ้านรีบส่งโรงพยาบาลที่โรงพยาบาลผู้เล่าได้เห็นอาการของเขาชักดิ้นงอไป-มา เหมือนแมวที่เขาทุ่มตาย สุดวิสัยที่หมอจะช่วยเหลือได้ เขาตายเหมือนแมวดิ้นตายนั่นเอง 2 เรื่องนี้รวบรวมเก็บความจากนิตยสารศุภมิตรรายเดือน ข้อเขียนของ อาภรโณ ผู้เขียน (อาภรโณ) เล่าว่าได้ฟังเรื่องทั่งสองนี้จากจ่าผู้หนึ่งซึ่งได้พบเห็นด้วยตนเอง
                3. จีนผู้หนึ่งมีอาชีพทางเชือดไก่ขาย เวลาเช้าจะนำไก่ที่ฆ่าแล้วใส่ถังสังกะสีสำหรับตักน้ำเอาไม้คานใส่เข้าระหว่าหูหิ้วของถังผ่านวัดไปตลาดเสมอ ตอนบ่ายขายไก่แล้วก็กินเหล้าเดินกลับ นาน ๆ ก็เชือดคอตัวเองเสียครั้งหนึ่งจนคอมีรอยแผลเป็นผู้เขียน เป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ในวัดต่างจังหวัดได้เห็นและรู้จักเอง แกชื่อกังใคร ๆ เรียกแกว่าเจ๊กกัง ครั้งหลังสุดดูเหมือนแกเชือดคนตนเองจนตาย                
                4. จีนคนหนึ่งที่ตลาดพลู ธนบุรี มีอาชีพฆ่าหมู คราวหนึ่งไม่สบายมีเสียงร้องเหมือนหมู ร้องเรียกเมียซึ่งแต่งงานด้วยกันไม่ถึงเดือนให้เอาอ่าง (รองเลือด) มาให้เอามีดหมูมา พอได้ของเหล่านี้มาพร้มแล้วก็ขาดใจตาย
                ข้อ 2.4 นี้รวบรวมจากหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ
                5. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชายคนหนึ่งชื่อคำเป็นชาวนาเกลือแขวงบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายดำหาเลี้ยงชีพในทางรับจ้าง คราวหนึ่งไปรับจ้างเฝ้าไข้จะละเม็ดที่เกาะคราม มีจีนผู้ร้ายมาขโมยไข่เนือง ๆ เป็นเหตุให้นายดำโกรธเคืองมากพยายามคอยจับอยู่เสมอ
                คืนหนึ่ง นายดำซุ่มอยู่เห็นผู้ร้ายคนจีนมาลักไข่จึงเข้าจังได้พร้องทั่งของกลาง เอาเชือกผูกมัดขโมยไว้อย่างมั่นคงเอาไม่ตีบ้าง เอามีดฟันบ้างตามใจชอบ แต่ขโมยก็ยังไม่เป็นอันตรายสมใจ จึงไปหาหลาวมาสวนทวารหนัก จนจีนขาดใจตายนายดำได้นำคพจีนคนนั้นไปฝังไว้อย่างมิดชิดจนแน่ใจว่าลับตาคนดีแล้ว ก็คงอยู่มาตามปกติ
                ภายหลังหนายดำ เลื่อมใสในศาสนาถึงกับบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดหนองเกตใหญ่หลายพรรษา จนได้เป็นสมภารปกครองวัดนั้นตลอดมา เมื่อจวนมรณภาพมีอาพาธเป็นโรคบิดยังมีกำลังพอเดินได้ ไปถ่ายอุจจาระที่ฐานก็ถ่ายไม่ออก ภายหลังรู้สึกปวดมวนจึงเดินลงจากกุฎิไปฐานอีกฐานนั้นอยู่ในหม่ต้นกล้วย ซึ่งมีทั่งเล็กใหญ่และหน่อมากมาย แม้ท่านจะพยายามถ่ายสักเท่าไรก็หาออกไม่ จึงขยับตัวลุกขึ้นหมายจะกลับไปกุฎิ เวลานั้นท่านรู้สึกว่ามีอะไรเป็นก้อนดำมืดเคลื่อนเข้ามาตรงหน้าท่าน ท่านก็ลัมลงทับหน่อกล้วยลงไปเต็มแรง หน่อกล้วยนั้นสวนเข้าไปในทวารพอดีเมื่อลับมากุฎิแล้วให้เด็กไปตัดหน่อกล้วยนั้นมาไว้ ชี้ให้ผู้มาเยี่ยมดูเล่าเรื่องที่ท่านเคยใช้หลาวสวนทวารจีนขโมยให้ฟังว่า ผลกรรมมาถึงแล้ว สมภารดำได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่หลายวันก่อนถึงมรณภาพ
                6. สมภารดำตามเรื่อที่ 5 นั้น มีพี่น้องหลายคนในจำนวนนั้น น้องสาวคนหนึ่งของสมภารดำ ชื่อเปรมเมื่อเปรมยังเด็กอยู่ ผู้ใหญ่เคยให้เฝ้าช้าวเปลือซึ่งได้นำออกผึ่งแดดไว้ วันหนึ่งขณะที่เปรมกำลังเฝ้าข้าวเปลือกมีแม่ไก่ตัวหนึ่งพาลูกเล็ก ๆ 13 ตัวมาจิกกันคุ้ยเขี่ยกัน เปรมแลเห็นแล้วเกิดขัดใจขึ้นมา จึงเอาท่านไม้เหวี่ยงปหไปเต็มแรงไม้นั้นตกลงดินก่อนแล้ว สะท้อนไปแทงเอาตาข้างซ้ายของแม่ไก่ ทำให้ตาข้ายซ้ายนั้นบอด
                ต่อมา เปรมแต่งงานแล้วมีลูก 13 คน (เท่าลูกไก่) เวลานั่นนางมีอายุล่วงเข้ามัชฒิมวัย วันหนึ่งหน้าฟาดข้าวคนในบ้านเอารวงข้าวที่เกี่ยวแล้วมาฟาดบนปากถังเพื่อให้เมล็ดข้าวร่วงลวก้นถัง ตามธรรมเนียมที่ใช้กันในแถบนั้นเมื่อถึงคราวหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน คนเหล่านั้นก็หยุดตามเวลา แต่ข้าวที่ยังไม่ได้ฟาดเหลืออยู่อีก 1 ฟ่อน นางเปรมจึงหยิบไปฟาดเพื่อให้หมดเสียทีเดียวบังเอิญข้าวเม็ดหนึ่งกระเด็นเข้าตาของนางแทงถูกแก้วตาซ้าย ทำให้ปวดร้ายเหลือประมาณ ทุรนทุรายน่าสังเวชยิ่งนัก พวกพ้องช่วยกันรักษาพยาบาลตามกำลังสามารถแต่อาการปวดหาคลายลงไม่ ต่างปรึกษากันที่จะหาหมอมารักษาต่อไป นางเปรมทราบเรื่องจึงห้ามเสียบอกว่าผลกรรมของตนตามมาทันแล้ว หมอวิเศษอย่างไรก็คงรักษาให้หายไม่ได้ ในที่สุดตาข้างซ้ายของนางก็บอดเช่นเดียวกับแม่ไก่
                7. ชายผู้หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองหมู อำเภอหนองโคน จังหวัดสระบุรี มีอาชีพทางเป็นพ่อค้าเกวียน ได้ซ้อข้าวบรรทุกเกวียนไปขายอยู่เสมอ เขาเป็นคนโหดร้าย ใจอำมหิต ใช้สัตว์พาหนะโดยปราศจากเมตตาปรานี ให้อดหญ้า อดน้ำ กรำแดด กรำฝน สัตว์พาหนะต้องทุรนทุรายด้วยงานหนักและอดน้ำกรำแดดอยู่เสมอ ซ้ำเขาคอยพูดหลอกลวงสัตว์อยู่เสมอว่า ไปถึงตำบลโน้นก่อนเถิดจึงค่อยหยุดพักกินน้ำกินหญ้า แต่เมื่อถึงเข้าแล้วก็หาหยุดไม่ กลับผัดเพี้ยนในที่ข้างหน้า ต่อ ๆ ไปอีก สัตว์พาหนะนั้นได้รับความกระวนกระวายเพราะกระหายน้ำเป็นกำลัง เมื่อถึงที่ที่ได้ดื่มน้ำก็มีแต่น้ำขุ่นเจือด้วยเปือกตม เขาได้ใช้สัตว์พาหนะโดยทำนองนี้ตลอดมาจนเขาชราภาพ เมื่อป่วยใกล้จะสิ้นชีวิตได้แลเห็นนิมิตต่าง ๆ เป็นต้นว่า ดุมและกงเกวียนหมุนอยู่ที่หน้าอกครวญครางเรียกให้บุตรและภรรยามาช่วย ครั้นกลับได้สติขึ้นมาก็สั่งสอนลูกหลานว่าอยู่เอาเยี่ยงตนจะใช้สัตว์พาหนะให้มีใจสงสารปรานีมัน พูดแล้ก็ร้องครวญครางต่อไปอีกและร้องบอกว่ากระหายน้ำเหลือเกิน เมื่อบุตร ภรรยาเอาน้ำมาให้ก็ดื่มไม่ได้ แสดงอาการหอบและหิวกระหายทำนองเดียวกับสัตว์พาหนะที่ตนเคยทรมานมา เมื่อจะบริโภคน้ำได้บ้าง ถ้าเป็นน้ำใสก็ดื่มไม่อร่อย ต้องน้ำขุ่น ๆ จึงจะอร่อยและพอใจ เขาเสวยทุกขเวทนาอยู่ดังนี้หลายวันจึงสิ้นชีพ
                8. หลวงชี (พระแก่) รูปหนึ่ง มีความขยันขันแข็งผลูกต้นไม้และผักต่าง ๆ ไว้มากที่บริเวณกุฎิของท่าน ชาวบ้านใกล้เคียงได้อาศัยท่านมากเหมือนกัน คนไหนมาขอท่านก็ให้โดยดีแต่คนไหนลักขโมยเอา ท่านบ่นด่าไปต่าง ๆ นานา ต่อมาวันหนึ่งชายชาวบ้ายผู้เป็นพาลคนหนึ่ง คงมาลักผักหรือผลไม้ของท่านเข้า เมื่อถูกท่านบ่นก็โกรธแค้นอาฆาตคิดจะฆ่าท่านเสีย จึงให้ภรรยาทำขนมแล้วเอายาพิษคลุกเข้าไว้ ให้คนนำไปถวายหลวงชีรูปนั้น บังเอิญนำไปเมื่อพ้นเพล  ท่านฉันเพลเสียแล้ว  จึงเก็บขนมไว้ใต้เตียงเพื่อไว้ให้เด็กที่ชอบมาเล่นในวัดบริเวณกุฏิท่านเสมอ ๆ
                เย็นวันนั้น  เด็กคนหนึ่งมาเล่นที่บริเวณกุฏิของท่าน  ท่านจึงเรียกมาและให้กินขนม  ไม่ช้ายาพิษได้ซ่านไปในกายของเด็ก  พระก็ไมทราบจะช่วยอย่างไร  จึงบอกกล่าวให้พ่อแม่เด็กมารับตัวไปรักษา   เด็กคนนั้นเป็นลูกของชายผู้เอายาพิษคลุกขนมถวายพระนั่นเอง  เด็กถึงแก่กรรมตายในวันนั้น
                ข้อ 5,6,7,8  รวบรวมเก็บความจากหนังสือเรื่อง   ภพอื่นและเรื่องควรคำนึง  พิสูจน์บุญ-บาปในปัจจุบัน   รวบรวมโดย  ศาสตราจารย์นายแพทย์  อวยเกตุสิงห์  และวัฒนา โอสถานุเคราะห์
                9. ผู้ใหญ่ที่เขียนคุ้นเคยเคารพนับถือท่านหนึ่งเป็นผู้สนใจในบุญกุศล  จำศีลและเจริญภาวนาเป็นประจำ  เมื่ออยู่ในวัยชรา 80 เศษ  ท่านป่วยเจ็บคอรับประทานอาหารและดื่มน้ำด้วยความยากลำบาก  ลูกหลายพยายามอ้อนวอนให้ท่านเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล    ท่านบอกว่าอย่ารักษาเลยไม่หายดอก  มันเป็นโรคกรรม   เมื่อยังหนุ่มท่านเคยบีบคอนกยาง  ตายไปหลายตัว  บัดนี้ผลกรรมมาถึงแล้ว
                ท่านนอนทุกข์ทรมานอยู่นานเดือน   เมื่อท่านไม่ค่อยรู้สึกตัวแล้ว  ลูกหลานจึงส่งโรงพยาบาลและไปสิ้นชีพที่โรงพยาบาล  ปรากฎว่าเป็นมะเร็งในลำคอ  หรือที่ทางเดินอาหาร
                ตัวอย่างของผลกรรมที่ให้ผลปัจจุบันทันตาเห็น  เท่าที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้เป็นเพียงส่วนน้อย  ยังมีอีกมากมายเหลือเกินที่ท่านผู้รู้ได้บันทึกไว้ในที่อื่น  และที่ไม่มีใครได้บันทึกไว้เลย   ยังมีมากกว่าหลายร้อยเท่า  ข้าพเจ้าขอบพระคุณผู้รวบรวมทุกท่านที่เอ่ยนามไว้แล้ว ณ ที่นี้
                ตัวอย่างเหล่านี้  แสดงให้เห็นว่า  ผลของกรรมมีอยู่จริง  ให้ผลจริง  อย่างน้อยที่สุด  จึตสำนึกของผู้ทำนั่นเองย่อมรู้อย่างเต็มที่ว่าตนทำความดีความชั่วอย่างไร  ถ้ารู้สึกว่าทำความดีจิตใจก็ผ่องใสเป็นสุข  ถ้ารู้สึกว่าทำความชั่วจิตใจก็เศร้าหมองเป็นทุกข์   ถ้าความชั่วนั้นรู้กันไปมาก  ผู้ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วจากสังคมอีกต่อหนึ่ง  เช่นต้องอับอายขายหน้า  ไม่มีใครปรารถนาคบหาสมาคมด้วย  มองหน้าคนอื่นได้ไม่สนิท  ไม่สง่าผ่าเผยในที่ชุมนุมชน  ส่วนคนทำความดำย่อมได้รับผลตรงกันข้ามกับคนทำชั่วทั้งทางด้านสังคมและด้านจิตใจ  ใจของเขาจะดีขึ้นสูงขึ้น   มีคุณภาพดีที่จะรอบรับคุณธรรมต่างๆ  คือ เขายิ่งทำดีมากขึ้นเพียงใด  จิตใจเขาจะประณีตมากขึ้นเพียงนั้นและความสุขก็จะประณีตขึ้นด้วย

การเกิดใหม่
หรือการเวียนว่ายตายเกิด
               
                ได้กล่าวไว้แต่เบื้องต้นแล้วว่า    หลักกรรมกับสังสารวัฎหรือการเวียนว่ายตายเกิด                    มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด    หลักกรรมจะดำรงอยู่ไม่ได้       หรือถ้าได้ก็ไม่สมบูรณ์ถ้าไม่มีเรื่อง สังสารวัฎ  เพราะชีวิตเดียวสั้นเกินไปไม่พอพิสูจน์กรรมให้หมดสิ้นได้  มีปัญหาหลายอย่างที่น่าสงสัย   เช่นทำไม่คนดีบางคนจึงมีความเป็นอยู่อย่างตกต่ำลำบาก  สุขภาพอนามัยไม่สมบูรณ์ร่างกายอ่อนแอ  ส่วนคนที่ใคร ๆ เห็นว่าชั่วบางคน  กลับมีความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญ  มีร่างกายแข็งแรง  เราไม่อาจคลายความสงสัยได้   ถ้าพิจารณาชีวิตกันเพียงชาติเดียว    หลักกรรมและการเกิดใหม่    จะบอกเราว่าคนที่เราเห็นว่าชั่วนั้น      เขาย่อมต้องเคยทำกรรมดีมาบ้างในอดีต         และคนที่เราเห็นว่าดีอยู่ในเวลานี้   ย่อมต้องเคยทำกรรมชั่วมาบ้างเหมือนกัน    กรรมดีย่อมให้ผลดี      กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่วตามอิทธิพลของมัน   เที่ยงตรงที่สุดไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง
                อนึ่ง   หลักทางพระพุทธศาสนา  (ตามพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)   มีอยู่ว่า  ตราบใดที่บุคคลคนยังมีกิเลสอยู่  เขาย่อมต้องทำกรรมดีบ้างชั่วบ้าง   กรรรมดีย่อมมีวิบาก (ผล)  ดี   กรรมชั่วมีวิบากชั่ว  วิบากดีก่อให้เกิดสุข  วิบากชั่วก่อให้เกิดทุกข์  สุข ทุกข์เหล่านั้นย่อมมีชาติ   คือความเกิดเป็นที่รองรับ  ปราศจากความเกิดเสียแล้วที่รองรับสุขทุกข์ย่อมไม่มี   กรรมก็เป็นหมันไม่มีผลอีกต่อไป
                พูดอย่างสั้นว่า   ตราบใด  ที่บุคคลใดยังมีกิเลสอยู่เขาย่อมเกิดอีกตราบนั้น  บุคคลที่ยังพอในอยู่ในกาม  คือยังไม่อิ่มในกาม  ยังมีความกระหายในกามใจยังแส่หากาม  ย่อมเกิดอีกในกามภพ  เพื่อเสพกามตามความปรารถนาของดวงจิตที่มีกามกิเลสห่อหุ้มพัวพันคลุกเคล้าอยู่
                บุคคลที่หน่ายกามแล้ว  เลิกละกามแล้วแต่จิตยังเอิบอิ่มอยู่ในฌานสมาบัติเบื้องต้น 4 ขั้นที่ท่านเรียกว่า  รูปฌาน  เขาย่อมเกิดอีกในรูปภพ  เพื่อเสพสุข  อันเกี่ยวกับณานในภพนั้น   ท่านผู้พอใจในความสุขอันประณีตกว่านั้นที่เรียกว่า  ความสุขในอรูปฌานย่อมเกิดอีกในอรูปภพ  ผู้เบื่อหน่ายต่อความสุขอันยังเจืออยู่ด้วยกิเลสดังกล่าวมาแล้วละกิเลสได้หมด  ไม่มีกิเลสเหลือก็เข้าถึงนิพพาน  ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป  สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด  ไม่ต้องสุขบ้างทุกข์บ้างอีกต่อไป  เป็นผู้พ้นจากสภาพที่จะเรียกได้ว่าเป็นอะไร  เป็นอย่างไร  พ้นจากสุขทุกข์ทั้งปวง
                ภพ  คือที่ถือกำเนิดของสัตว์จึงมี 3 คือ กามภพ รูป  และอรูปภพ  พ้นจากนี้แล้วไม่เรียกภพ
                ในภวสูตร   พระอานนท์เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  ภพมีได้เพราะเหตุใด?  พระผู้มีพระภาคตรัสถามย้อนว่า  ถ้ากรรมที่เกี่ยวกับกาม  จักไม่มีแล้ว  กามภพจักมีได้หรือไม่?  ถ้ากรรมที่เกี่ยวกับรูปธาตุ (รูปฌาน)  หรือเกี่ยวกับอรูปธาตุ (อรูปณาน)  จักไม่มีแล้ว  รูปภพอรูปภพจักมีหรือไม่?  พระอานนท์ทูลตอบว่ามีไม่ได้เลย
                พระพุทธองค์จึงตรัสว่า  เพราะเหตุนี้แหละอานนท์  (ในการเกิดใหม่นั้น)   กรรมจึงเป็นเสมือนเนื้อนา  วิญญาณเสมือนพืช  ตัณหาเป็นเสมือนยางเหนียวในพืช(กมฺมํ เขตฺตํ วิญฺญาณํ พีชํ ตณฺหา สิเนโห)
ดูก่อนอานนท์  ความตั้งใจ  ความจงใจ (เจตนา)  ความปรารถนาของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม  มีตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดได้ตั้งลงแล้วในธาตุอันเลว (กามธาตุ)  ธาตุปานกลาง (รูปธาตุ)  และธาตุประณีต(อรูปธาตุ)  เมื่อเป้นดังนี้การเกิดในภพใหม่ก็มีขึ้นได้อีก
                ตามพระพุทธภาษิตนี้ชี้ชัดทีเดียวว่า  การเกิดใหม่ของสัตว์ย่อมต้องอาศัย  กรรม  กิเลส (ตัณหา)  และวิญญาณ  มีความสัมพันธ์กันเหมือน  เนื้อนา  หรือดิน  พืช  และยางเหนียวในพืชอันทำให้พืชมีคุณสมบัติในการเกิดใหม่ได้อีกเมื่อมีสภาวะแวดล้อมเหมาะสม
                พืชที่ถูกคั่วให้แห้ง  หรือเอาเหล็กแหลมเจาะทำลายเม็ดในเสียแล้ว  ย่อมไม่อาจเพาะ  หรือปลูกให้ขึ้นได้อีกไม่ว่าสภาวะแวดล้อมเช่นดิน  น้ำ ปุ๋ย  จะดีสักเพียงไรฉันใดวิญยาณที่ไม่มียางเหนียวคือตัณหา  หรือกิเลส  ห่อหุ้มผูกพันอยู่  ก็ย่อมไม่ต้องเกิดอีก  ไม่ควรเพื่อการเกิดใหม่ฉันนั้น
                ตามนัยนี้  แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงยืนยันเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณที่ยังมีกิเลส  และกรรมที่ยังมีเจตนามีความปรารถนาในกามภพ  รูปภพ  และอรูปภพ  สัตว์จะไปเกิดในภพใดก็สุดแล้วแต่กิเลสและกรรมของเขาที่เกี่ยวกับภพนั้นเหมือนบุคคลฝึกฝนสิ่งใด  พอใจกระทำสิ่งใด  ย่อมได้รับผลของสิ่งนั้น

อะไรไปเกิด  มาเกิด?
                เมื่อยอมรับ  หรือสมมติว่า  เรายอมรับตามหลักพระพุทธศาสนาว่า  ตายแล้วเกิด  (เฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่)  ปัญหาว่าอะไรไปเกิด  มาเกิด?  ตอบว่าวิญญาณที่ยังมีกิเลสนั่นแหละไปเกิดมาเกิด  ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฎตามอำนาจแห่งกิเลสและกรรมของตน ๆ
                จะไปเกิดในที่ใดอย่างไรก็สุดแล้วแต่แรงกรรมและความสูงต่อของวิญญาณ  วิญญาณย่อมรู้ที่ที่เหมาะสมแก่ตน
                ถามว่าจะเลือกที่เกิดได้หรือไม่?   ปัญหานี้ตอบว่า  เลือกได้บ้าง  เลือกไม่ได้บ้าง  วิญญาณชั้นต่ำเลือกเกิดไม่ได้  สุดแล้วแต่แรงกรรมอย่างเดียว  ส่วนวิญญาณชั้นสูง  มีบุญกุศลมาก  มีบารมีมาก  สามารถเลือกเกิดได้ตามเจตจำนงของตนเพราะไม่มีสิ่งใดบังคับ  เวลาจะเกิดยังต้องมีคนเชื้อเชิญให้มาเกิดเสียอีก  จะไม่มาก็ได้วิญญาณที่อยู่ในฐานะเช่นนั้นย่อมเลือกเกิดได้
                กรรมมีอาจพิเศษในการสำรวจอดีตของวิญญาณทุกดวงแล้ว  กำหมดหมายให้ใครไปเกิดที่ใดอย่างเหมาะสมที่สุดกับกรรมในอดีตของเขา  เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามสมควร  ไม่มีสิ่งใดยุ่งยากสับสนเท่ากับสายใยแห่งชะตาชีวิตมนุษย์-มนุษย์จะเลือกที่เกิดได้ก็ต่อเมื่อวิญญาณของเขาได้รับการพัฒนาจวนจะสมบูรณ์อยู่แล้ว

ข้อพิสูจน์ว่าคนตายแล้วเกิด
                ปัญหาที่เรามักได้ฟังเสมอก็คือ มีข้อพิสูจน์อะไรบ้างหรือไม่ว่า มีการเวียนว่ายตายเกิดหรือตายแล้วต้องเกิดอีกเมื่อยังมีกิเลสอยู่ คำตอบก็คือ มีข้อพิสูจน์หลายประการ เช่น
                1. เด็กในครอบครัวเดียวกัน เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกัน แต่มีความโน้มเอียงต่างกัน แม้เด็กฝาแฝดก็ยังแตกต่างกันในอุปนิสัย แสดงว่าร่องรอยในอดีตของเขาไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีความโน้มเอียงทางดนตร บางคนทางศิลปะ บางคนทางวิทยาศาสตร์ และบางคนทางศาสนาปรัชญา แสดงถึงความผูกใจรักในสิ่งนั้น ๆ ของเขาในอดีต มีโฆ่สัมพันธ์มาถึงปัจจุบัน
                2. สืบเนื่องมาจากข้อความที่กล่าวแล้วในข้อ 1 นั่นเอง เมื่อเราเอาคน 2 คน มาให้พิจารณาความจริงใหม่ ๆ อย่างหนึ่ง  . อาจเข้าใจได้ทันที แต่ ข. ไม่อาจเข้าใจเลย พอเปลี่ยนความจริงอีกอย่างหนึ่งมา ข. อาจเข้าใจได้ทันที แต่ ก. ไม่เข้าใจเลย ทั้งที่ระดับสติปัญญาของคนทั้งสองเท่าเทียมกัน คนที่เข้าใจได้ทันทีก็เพราะคุ้นเคยกัยความจริงอันนั้นมาก่อน
                ตัวอย่างเช่น เอาความจริงทางคณิตศาสตร์มาก่อน ก.เข้าใจได้เร็ว แต่ ข. เข้าใจได้ช้ามาก พอเอาเปลี่ยนความจริงเสียใหม่ คือ เอาความจริงทางปรัชญามาให้พิจารณา ข. เข้าใจได้เร็วมาก แต่ ก. ไม่เข้าใจเลย แสดงว่า ก. มีร่องรอยในอดีตทางคณิตศาสตร์ ส่วน ข. มีทางปรัชญา คนสมัยใหม่เรียกว่ามีความถนัดหรือมีหัวใจในทางนั้น ๆ ความถนัดนั่นเองคือร่องรอยแห่งกรรมในอดีตชาติของเขา ประวัติแห่งบุคคลสำคัญขอองโลก พิสูจน์ว่า คนสำคัญในทางใดมักมีท่าทีในทางนั้นมาตั้งแต่วัยต้นทีเดียว ความโน้มเอียงและความสามารถโดยกำเนิดของบุคคลดังกล่าวมา ย่อมแสดงถึงความสนใจและงานในอดีตของเขาดังนั้นความสามารถต่าง ๆ ของบุคคลจึงไม่สูญหายหลังจากตายแล้ว ความสามารถนั้นติดไปกับดวงวิญญาณของเขานั่นเอง
                3. อุปนิสัยชั่วหรือดีโดยกำเนิดหรือโดยสันดานของเด็กอีอย่างหนึ่งเป็นเรื่องน่าพิจารณา เด็กบางคนมีพ่อแม่ดี แต่ตัวเด็กเองดีไม่ได้ บางคนมีพ่อแม่เลวแต่ตัวเด็กแสดงอุปนิสัยอันดีเลิศออกมา เด็กที่พ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนหรือปล่อยปละละเลยแต่ประการใด ความจริงพ่อแม่สั่งสอนอบรมให้การศึกษาเหมือนกับลูกคนอื่น ๆ แต่สันดานชั่วอันติดมาจากชาติก่อนของเด็กหนามาก จนไม่อาจขัดเกลาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางดีได้ในชาติเดียว
                ส่วนเด็กที่พ่อแม่เลว แต่ตัวเด็กเองดีมากนั้นเพราะอุปนิสัยสันดานดีอันสืบเนื่องมาจากชาติก่อนของเขาแน่นหนามั่นคงมาก อิทธิพลแห่งสิ่งแวดล้อมที่เลงจึงไม่อาจครอบงำวิถีชีวิตของเขาได้ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางชีวิตของเขาให้เป็นไปทางอื่น นากจากทางที่เขาเคยดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลานานได้ พื้นเพทางใจของเขาเหมือนพื้นคอนกรีตไม่พังทลายไปเพราะน้ำฝน ไม่เหมือนพื้นเพทางใจของคนบางคนที่เหมือนก้อนดิน พอถูกน้ำเข้าก็ละละาย กรรมดี กรรมชั่วบางอย่างอาจส่งให้เขามาเกิดผิดที่หมาย แต่จุดมุ่งหมายเดิมแห่งชีวิตเขายังคงเกาะแน่นเป็นคุณสมบัติทางจิตอยู่ดังเดิม
                สมดั๗พรสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นสิ่งแวดล้อมชี้ชวนให้หมกมุ่นลุ่มหลงอยู่ในโลกียสุข ประกอบทั้งได้รับการสนับสนุนจากพระญาติทุกฝ่ายให้เป็นเช่นนั้น แต่พระอุปนิสัยของพระองค์ไม่เป้ฯไปทางนั้น ทรงสั่งสมพระบารมีมาสั่งสมพระอุปนิสัยมาทางความหน่ายกามสุขหรืออโลกียสุข สิ่งยั่วยวนต่าง ๆ จึงไม่อาจรั้งพระองค์ไว้ได้ พระองค์จึงต้องดำเนินชีวิตตามทางที่พระองค์ทรงมุ่งหมายมาเป็นเวลานาน นั่นคือ ทางการแห่งการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
                4. เด็กอัจฉริยะ เป็นการแสดงถึงร่องรอยแห่งความทรงจำในอดีตที่เห็นได้ชัดที่สุด ความอัจฉริยะของเขาเด่นออกมาโดยที่หลักแล่งพันธุกรรมไม่สามารถอธิบายได้ เด็กบางคนอัจฉริยะทางคำนวณ บางคนทางดนตรี บางคนทางศิลปะอื่น ๆ โดยที่บรรพบุรุษไม่เคยมีอาชีพทางนั้นมาเลย อายุของเขาเพียง 7 ขวบ 10 ขวบ แต่มีความสามารถทางดนตรี คณิตศาสตร์หรือศิลปะเทียบเท่าผู้อายุสูงที่มีความชำนาญการทางนั้น ๆ โดยเฉพาะ อันนี้แสดงว่าความชำนาญอันเขาสั่งสมไว้ในอดีตมิได้สาบสูญไปเลย คงประจำเป็นคุณสมบัติติดตัวเขาอยู่ตลอดเวลา
                ปัญหาว่าถ้าอย่างนั้น คนที่เคยศึกษาเล่าเรียนมามาก ๆ เมื่อเกิดใหม่เหตุไฉนจึงต้องเรียนกันใหม่ ต้องฝึกฝนกันใหม่ ?  ปัญหานี้ขอตอบว่าที่เป็นดังนั้นเพราะอวัยวะส่วนประกอบทางกาย ยังไม่อำนวยให้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ของเขาแสดงออกมาได้ คือความพร้อมทางกายอันเป็นส่วนประกอบสำคัญเหมือนกันยังไม่พอ ตัวอย่างเช่น นักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาก แต่เครื่องดนตรีไม่พร้อม เขาก็ไม่อาจเล่นดนตรีให้ไฟเราะตามความสามารถที่เขามีได้ แม่ทัพที่มีความสามาถในการรบอย่างสูง แต่เมื่อนำเขาไปขังไว้ในห้องแคบ ๆ เขาจะแสดงความสามารถในการบได้อย่างไร
                มะม่วงต้นหนึ่งซึ่งเคยใหญ่โตมีกิ่งก้านสาขามากมายมีผลเป็นพัน ๆ ผล ผลเหล่านั้นสุกงอมหมอหวาน แต่พอผลมะม่วงนั้นถูกนำมาเพาะใหม่ มันต้องเรื่มตั้งหน่อใหม่เป็นต้นเล็ก ๆ ใหม่ ทำไมเมื่อปลูกมันจึงไม่โตเลยทั้งที่มันเคยเป็นต้นโตมาหลายครั้งแล้ว แต่โปรดอย่าลืมว่าคุณสมบัติภายในของมันคือความหวานหรือความมันยังคงติอยู่ มันจะหวานและมันตามพันธุ์ของมัน นั่นคือคุณสมบัติที่มันสะสมไว้เป็นเวลายืดยาวนาน มันจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อมีกรรมวิธีใหม่มาทำลายคุณสมบัติเดิมของมัน แล้วสร้างคุณสมบัติใหม่ขึ้นในเรื่องของคนก็ทำนองเดียวกันนี้
                อนึ่ง มีผู้สงสัยกันมากเหมือนกันว่าวิญญาณที่ออกจากร่างมนุษย์แล้ว ทำไมจึงมีอานุภาพพิเศษวฃกว่าสมัยเมื่ออยู่ในร่างกายเนื้อของมนุษย์ สามารถทำอะไร ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ ซึ่งในสมัยที่เป็นมนุษย์อยู่ไม่สามารถทำได้
                ปัญหานี้ตอบว่า ความจริงวัญญาณหรือกายทิพย์มีความสามารถพิเศษอยู่แล้ว แต่กายเนื้อเป็นอุปสรรคให้วิญญาณ แสดงความสามารถเช่นนั้นออกมาไม่ได้ ตัวอย่างเช่นเราออกจากที่ทำงานจะกลับบ้าน วิญญาณถึงบ้านนานแล้วตั้งแต่พอคิดว่าจะกลับบ้าน แต่กายเนื้อ ต้องขึ้นรถ ลงเรือ ต้องเดินทางอย่างลำบาก เรียกว่ากายเนื้ออันหนักอันนี้จำกัดความสามารถของวิญญาณก็แสดงความสามารถของมันเต็มที่ไม่มีอุปสรรค
                พอเราคิดถึงใครจะไปหาเขา วิญญาณของเราก็ไปถึงแล้วทันที วิญญาณต้องกลับไป-มาอยู่เป็น10 เที่ยวหรือ 100 เที่ยวก็ได้ก่อนที่กายเนื้อจะอุ้ยอ้ายไปถึง
                5. หญิงที่มีลักษณะชายหรือชายที่มีลักษณะหญิงนั้น แสดงถึงความเคยชินในอดีต คือ มีอุปนิสัยและลักษณะของเพศเดิมติดมาด้วย
                ตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า คนที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏด้วยกันนั่นมีอยู่แทบทุกแบบ คือเคยเป็นสามีภรรยากันบ้าง เคยเป็นมารดาบิดาบุตรธิดากันบ้าง เคยเป็นมิตรเป็นศัตรูกันบ้าง  สายใยแห่งมนุษย์จึงดูยุ่งเหยิงยากที่จะสางได้  คนที่เคยรักกันอย่างดูดดื่ม ก็จะถูกชักนำให้มาพบกันชาติแบ้วชาติเล่าในลักษณะต่าง ๆ เช่นเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง คนรัก ทั้งนี้เพื่อให้ความรักขึ้นสู่ขั้นสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน
                อนึ่ง ที่ต้องเกิดเป็นหญิงบ้างชายบ้างก็เพื่อหาประสบการณ์ให้แก่วิญญาณ อุปนิสัยของเราจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้เป็นเพศต่าง ๆ มาแล้วสลับกัน เมื่อใดเราบรรลุถึงขั้นสูงสุดแห่งวิวัฒนาการขอองมนุษยื เมื่อนั้นอุปนิสัยของเราจะเป็นแบบสมบูรณื คือ มีพร้อมทั้งลักษณะหญิงและชายถ้าสังเกตจะเห็นว่า คนที่ทำประโยชน์แก่โลกมาก ๆ นั้นล้วนมีลักษณะทั้งสอง คือ ทั้งลักษณะหญิงและชายผสมกลมกลืนกันอยู่ในคน ๆ เดียว เช่น ความอ่อนโยน (ลักษณะหญิง) ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว (ลักษณะชาย) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (ลักษณะหญิง) ความยุติธรรม (ลักษณะชาย) การต้องมีอะไรทำอยู่เสมอ (ลักษณะหญิง) การทำจริง ทำอย่างทุ่มเท ทนทาน (ลักษณะชาย) ฯลฯ
                ลักษณะเหล่านี้ เมื่อแยกกันอยู่ก็จะไม่ให้ประโยชน์มากนัก แต่เมื่อรวมกันอยู่ในคน ๆ เดียวก็ได้ส่วนที่พอดีไม่หย่อนเกินตึงเกิน ทำให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่ได้
                ยกตัวอย่างเช่นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพียงอย่างเดียว มักทำอะไรลงไปโดยเสียความยุติธรรม เพราะความเห็นอกเห็นใจจูงให้กระทำ ส่วนคนที่ยึดมั่นแต่ความยุติธรรมอย่างเดียวไม่แลเหลียวถึงสภาพแวดล้อมบ้างเลย ก็จะขาดความเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นคนแข็งกร้าวเกินไปมุ่งรักษาแต่หลักการโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็ฯส่วนบุคคลบ้างเลย
                แต่เมื่อคุณธรรมทั้งสองอย่างมารวมกันในคน ๆ เดียวคนนั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอุปนิสัยอันดีเลิศ คือ มีความยุติธรรมโดยไม่ขาดความเห็นอกเห็นใจ หรือมีความเห็นอกเห็นใจโดยไม่ให้เสียความยุติธรรม
                คนที่มีอุปนิสัยดีเลิศจึงต้องมีทั่งลักษณะชายและหญิงรวมกัน การจะเป็นอย่างนั้นได้ก็โดยที่เขาต้องเคยเกิดเป็นชายเพื่อบ่มลักษณะชายและเคยเกิดเป็นหญิง เพื่อบ่มลักษณะหญิงหรือเพื่อหาประสบการณ์ในเพศนั้น ๆ และกำจัดส่วนเสียออกรักษาและเพิ่มพูนส่วนที่ดีไว้
                6. ความหวาดกลัวที่อธิบายไม่ได้ เช่น บางคนกลัวน้ำทะเล โดยที่ในชีวิตของเขาในชาติปัจจุบันไม่เคยเกี่ยวข้องกับน้ำทะเลมาเลย แสดงถึงความทรงจำในอดีตที่เขาเคยประสบมาในชาติก่อน เขาอาจเคยตายหรือได้รับความลำบากเพระาน้ำทะเล ความหวาดกลัวในครั้งนั้นยังคงสถิตอยู่ในดวงวิญญาณของเขา
                7. มิตรภพหรือความรักที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วนโดยไม่มีสาเหตุอะไรในปัจจุยัน แสดงถึงความรักในอดีตซึ่งครอบงำดวงวิญญาณของเขาอยู่ เขาเคยรักกันมาในชาติก่อน ๆ
                ในกรณีของความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วยก็ทำนองเดียวกัน แสดงถึงความเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน
                8. ความรู้สึกว่าตนเคยรู้จักที่นั้น ๆ บุคคลนั้น ๆ มาก่อนทั้ง ๆ ที่เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิตนี้ แสดงถึงประสบการณ์ในชาติก่อนของเขา เรื่องนี้เกิดขึ้นแก่คนแทบทุกคน
                9. นักจิตวิทยาสมัยปัจจุบันบางท่านสามารถสะกดจิตให้คนระลึกถึงเรื่องเก่า ๆ ที่ลืมไปแล้วถึง 12 ปีได้ บางท่านทดลองสะกดจิดหญิงคนหนึ่งให้ระลึกชาติถอยหลังไปได้ถึง 4 ชาติ
                10. เรื่องคนระลึกชาติได้ ซึ่งมีอยู่มากมายเหมือนกันและมีอยู่ทุกทวีปของโลก แสดงว่าชาติก่อนมีอยู่จริง การเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องจริง
                11. พระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณอย่างหนึ่งเรียกว่าปุพเพนิวสสานุสสติญาณ แปลว่า พระญาณที่สามารถระลึกถึงเหตุการณ์ณ์ในชาติก่อนได้ พระองค์ได้ญาณนี้โดยการบำเพ็ญเพียรทางจิต ทำพระมนัสให้บริสุทธิ์ พระองค์ตรัสว่า ใครก็ตามที่ดำเนินตามทางนี้ก็จะสามารถได้รับผลเช่นเดียวกับพระองค์ แสดงว่าไม่ใช่เป็นเรื่องลอย ๆ แต่คนทุกคนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง
                12. ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีเรื่องอยู่มากมายอันแสดงถึงการเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ เทวดา และโลกของโอปปาติกะ
ฯลฯ

จุดมุ่งหมายของการเกิดใหม่
                การเกิดใหม่เป็นกระบวนการธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต เพื่อวิญญาณจักได้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ก่อนจะออกจากโลก เข้าสู่โลกุตตรภาวะและไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพไหน ๆ อีกต่อไป
                โลกนี้เป็ฯเสมือนโรงเรียนใหญ่สำหรับวิญญาณจักได้ศึกษาหาประสบการณ์จนถึงที่สุด เมื่อเราได้เกิดซ้ำซากอยู่ชาติแล้วชาติเล่า ได้ผ่านความสุขบ้างทุกข์บ้างประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เป็นบทเรียนพอสมควรแล้ว เราก็จะไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกทิพย์ชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งมสภาวะต่าง ๆ แตกต่างจากโลกของเราเป็นอันมากวัญญาณของเราตื่นตัวมากขึ้น ความรู้สึกประทับใจในจริยธรรมมีมากขึ้น
                โรงเรียนโลกก็เหมือนกับโรงเรียนสามัญ คือ โรงเรียนสามัญนั้นนักเรียนจะต้องมาโรงเรียนวันแล้ววันเล่าเดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่าเพื่อเรียนวิชาซ้ำ ๆ กันนั้นเอง ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าจนกว่าจะจบหนักสูตรแล้วออกจากโรงเรียนไป เพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า ถ้าเป้นผู้ที่เรียนจบชั้นสูงสุดแล้วก็ไม่ต้องเรียนอีกต่อไป โรงเรียนก็ทำนองเดียวกัน วัญญาณจะต้องมาสู่โลกนี้ชาติแล้วชาติเล่า เพื่อเรียนบทเรียนซ้ำ ๆ กันนั่นเอง เพื่อให้เกิดความชำนาญและรู้แจ้งในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตแล้วประมวลเป็นบทเรียนที่วิญญาณจะต้องเรียนรู้และทรงจำวิญญาณที่เรียนจบหลักสูตรสมบูรณ์แล้ว ก็ออกจากโลกไปไม่หวดกลับมาอีก ที่เรียกว่า โลกุตตระ
                ข้อแตกต่างระหว่างโรงเรียนสามัญกับโรงเรียนโลกก็คือ ในโรงเรียนสามัญ นักเรียนผู้ไม่สมัครใจเรียนอาจลาออกจากโรงเรียนไปในระหว่างได้ แต่โรงเรียนโลกจะไม่เป็นอย่างนั้น นักเรียนของโรง
เรียนโลก (คือคนทุกคน) จะออกจากโลกไปโดยยังไม่จบบทเรียนหาได้ไม่ ผู้ที่จะออกจากโลกไปเป็นโลกุตตรชนก็เฉพาะผู้ที่จบบทเรียนสมบูรณ์สูงสุดเท่านั้น
                ความทุกข์ยากลำบากเป็นบทเรียนอันสูงค่าของชีวิต ชีวิตยิ่งลำบากเท่าใด เรายิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น ทั้งนี้หมายถึงเพื่อการศึกษาและความรอบรู้ของวิญญาณ คนส่วนมากมักตีคุณค่าของชีวิตด้วยลาภผลที่หาได้ เช่น ตำแหน่ง ยศ ความสนุกสนานสำราญใจ ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าแก่ชีวิตน้อย สิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตจริง ๆ คือพฤติกรรมอันทำให้เราสามารถพัฒนาจิตใจของเราให้สู่ระดับสูง ความทุกข์ยากและความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งทำให้เรารู้จักโลกและชีวิตดีขึ้น เพราะจุดปนะสงค์ใหย๋ของชีวิต ก็เพื่อพัฒนาอำนาจที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของเราให้เจริญถึงขีดสุด ประสบการณืทุกชนิดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เป็นส่วนหนึ่งแห่งบทเรียนของเรา แต่น่าเสียดายที่ดนส่วนมากมักลืมข้อเท็จจริงอันนี้เสีย ไม่ยอมรับบทเรียนที่มหาวิทยาลัยโลกเสนอให้ จึงต้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าบทเรียนนั้นจะแจ่มแจ้งขึ้นในใจของเขาเอง
                ระยะเวลาจากชาติหนึ่งไปถึงอีกชาติหนึ่ง กำหนดแน่นอนไม่ได้ ถ้าวิญญาณก้าวหน้ามาก มีคุณธรรมสูงมากจะอยู่ในโลกทิพย์ (สวรรค์) นานเป็ฯพัน ๆ หมื่น ๆ ปี เพื่อย่อยประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าสู่อุปนิสัย แล้วมาเกิดในโลกมนุษย์อีก เพื่อหาโอกาสเรียนรู้บทเรียนที่ยังเหลืออยู่บางบท เขาสมัครใจมาเกิดเพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนมนุษย์หรือช่วยเหลือมนุษย์ในการพัฒนาจิตใจการตายแล้วเกิดเป็ฯกระบวนการที่สิ้นสุดได้ ถ้าเราสามารถพัฒนาวิญญาณให้สมบูรณ์จนไม่มีความชั่วหลงเหลืออยู่เลย
                ชีวิตเพียงชาติเดียวให่เพียงพอที่จะหาประสบการณ์ให้แก่วิญญาณได้ เรียกว่าเกือบจะไร้จุดมุ่งหมายเอาทีเดียวเหมือนนักเรียนมาโรงเรียนเพียงวันเดียว จะทันได้เรียนรู้อะไรเด็กที่เกิดมาในแหล่งสลัมในนครใหญ่ ๆ นั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าเขาเกิดมาเพียงชาติเดียว แต่เพราะเหตุที่ไม่มีอะไรสูญ ไม่มีอะไรถูกลืมไม่ว่าชีวิตจะสั้นเพียงใดมันย่อมมีบางสิ่งบางอย่างอันมีคุณค่าควรแก่การทรงจำของวิญญาณ หรือเป็นการใช้หนี้เก่าบางอย่างที่เคยทำมาใจชาติอดีต
                โชคชะตาของแต่ละคน จึงเป็นผลรวมแห่งการกระทำในอดีตของเขาเอง ความสามารถทางจิต สภาพทางกายอุปนิสัยทางศีลธรรม และเหตุการณ์ณ์สำคัญในชาติหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นผลแห่งความปรารถนา ความคิดความตั้งใจของเราเองในอดีก โชคชะตามิใช่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้ แต่มันเป็ฯผลรวมแห่งการกระทำของเราเองในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความต้องการในอดีตของเราเป้ฯสิ่งกำหนดโอกาสในปัจจุบันของเรา ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอย ๆ  สภาพปัจจุบันของเรา ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอย ๆ สภาพปัจจุบันของเราเป็นผลแห่งการกระทำความคิดและความต้องการของเราในอดีต ไม่เฉพาะแต่ในชาติก่อนเท่านั้น แต่หมายถึงในตอนต้น ๆ แห่งชีวิตปัจจุบันของเราด้วย
                เพราะเหตุที่การเกิดใหม่มีจุดมุ่งหมายนั่นเอง เราจะเห็นว่าในบางยุคมีนักปราชญ์มาเกิดมากมายเป็นหมู่ ๆ เหมือนนัดกันมเกิด ทั้งนี้เพื่อทำประโยชน์อย่งใดอย่างหนึ่งที่ท่านทำคั่งค้างไว้ให้เสร็จไป

เหตุที่บุคคลระลึกชาติไม่ได้
                ปัญหาที่น่าสงสัยมากอย่างหนึ่งก็คือ เหตุไรคนส่วนมากจึงระลึกชาติไม่ได้ จำอดีตชาติของตนไม่ได้วิญญาณก็ไม่มีทางพิจารณาผลเทียบกับเหตุได้ การเกิดใหม่ก็ไร้ความหมาย ผลดีหรือชั่วที่เกิดขึ้นในระยะหลังเหมือนการให้รางวัลและการลงโทษคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
                ปัญหานี้ตอบได้ว่า เหตุที่คนส่วนมากระลึกชาติก่อนไม่ได้นั้น เพราะเหตุหลายอย่างเช่นอยู่ในโลกแห่งวิญญาณเสียนานเกินไป คนที่ระลึกชาติได้ส่วนมากพอตายจากมนุษย์ก็มาเกิดเป็อีกทันที หรือภายในเวลาไม่กี่วัน ระยะเวลาระหว่างภพเก่ากับภพใหม่สั้นมาก ความทรงจำเรื่องเก่า ๆ ยังแจ่มใสอยู่
                อนึ่ง แม้ในชาติปัจจุบันเราก็ไม่สามารถจำรายละเอียดของการกระทำหรือคำพูดของเราได้หมด แม้เหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อวานนี้เอง เราก็จำได้ไม่หมด ในช่วงเวลา 2-3 ปี แรกแห่งชีวิตเราจำอะไรไม่ได้เลย จะเหมาเอาว่าชีวิตตอนนั้นของเราไม่มีอย่างนั้นหรือ ? ตามปกติเราจำสาระสำคัญแห่งชีวิตได้ แต่เราจำรายละเอียดไม่ได้ข้อสังเกตก็คือ เรามีท่าทีหวาดกลัวหรือชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่เราไม่รู้สาเหตุของมัน ข้อนี้แสดงถึงความทรงจำในอดีตของเราอันแฝงอยู่
                                ที่ว่า เมื่อระลึกชาติหนหลังไม่ได้ จำอดีตชาติของตนไม่ได้ วิญญาณก็ไม่มีทางพิจารณาผลเทียบกัยเหตุได้การเกิดใหม่ก็ไร้ความหมาย ผลดีผลชั่วที่เกิดขึ้นในระยะหลังเหมือนการให้รางวัลและการลงโทษคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย นั้นขอตอบว่าการที่เป็นเช่นนั้นแสดงถึงความยุติธรรมอย่างยิ่งของหลักกกรรรม คือ ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามกรรมย่อมให้ผลไปตามหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรง เปรียบเหมอนความเที่ยงตรงแห่งหลักสุขภาพอนามัย ใครปฏิบัติตนอันเป็นเหจุทำลายสุขภาพ สุขภาพย่อมเสื่อมลง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นศาสตราจารย์ทางสรีรวิทยาหรือชาวนาชาวสวนแต่ถ้าใครปฏิบัติตนอันเป็นเหตุให้สุขภาพสมบูรณ์เยาย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์ เขาจะรู้หรือไม่รู้หลักอันนั้นก็ตาม
                นี้แสดงว่าโลกนี้มีหลักจริยธรรมสากลทำนองเดียวกับอนามัย อันทำงานอย่งเที่ยงตรงไม่เข้าใครออกใครแต่มันเป็นจริงในตัวมันเองเป็น Objective truth ไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ไม่เข้าใจ และความชอบไม่ชอบของใคร
                ความจริงสิ่งต่าง ๆ ซึ่งบุคคลได้ประสบแล้วหรือที่วิญญาณได้รับรู้แล้วเก็สั่งสมไว้แล้วนั้นไม่เคยหายไปเลยมันสะสมอยู่ในภวังควิญญาณซึ่งมีหน้าที่สะสมกรรมนั่นเองแต่ที่บุคคลระลึกไม่ได้ก็เพราะมันทับถมกันอยู่มากเหมือนใบไม้ที่หล่นทับถมกันไปในที่แห่งหนึ่งเราเห็ฯได้เฉพาะใบที่อยู่ชั้นบนเท่านั้น ส่วนที่ทับถมกันอยู่เบื้องล่างเราหาเห็นไม่ แต่มันก็มีอยู่
                เปรียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนน้ำกับผิวของน้ำ ที่เราเห็นได้นั้นเป็นผิวของน้ำ น้อกจากผิวแล้ว น้ำยังมีส่วนสึกอีกมากที่เรามองไม่เห็น ส่วนที่เรามองไม่เห็นนั้นจะปฏิเสธว่าไม่มีอยู่หาได้ไม่ ความจริงมันเป็นพื้นฐานให้เราเห็นผิวของน้ำ
                พูดตามหลักจิตวิทยา อารมณ์ คือ ภาวะหรือพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต เมื่อจิตกับสิ่งภายนอกกระทบกัน เมื่ออารมณ์เก่าผ่านพ้นไปแล้ว คนส่วนมากเข้าใจว่า มันพ้นไปแล้ว หนายไปแล้ว แต่ความจริง มันหาได้หายไปเลยไม่ แต่มันจะลงไปค้างอยู่ในส่วนลึกของจิตหรือวิญญาณที่เรียกว่า จิตไร้สำนัก (Unconscious mind) คือ จิตส่วนที่เราสำนึกไม่ถึง อารมณ์เหล่านั้นลงไปสลัลซับซ้อนกันออยู่มากมาย จิตไร้สำนึกนี้ คือ ภวังควิญญาณ ส่วนจิตสำนึก คือ วิถีวิญญาณซึ่งออกมารับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียว่า จักขุวิญญาณ  มโนวิญญาณ  อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์
                เมื่อเรามองลงไปในทะเล เราเห็นคลื่นบนผิวน้ำแต่กระแสอันแรงกล้าของน้ำที่ใหลอยู่ใต้เกลียวคลื่อฃน เราหาเห็นไม่เมื่อเรามองต้นไม้ เราเห็นลำต้น กิ่งใบของมัน แต่รากของมันอันหยั่งลงลึกในดิน เรามองไม่เห็ฯฉันใดเมื่อเราพิจารณาบุคคลก็ฉันนั้น สิ่งที่เราเห็นคือพฤติกรรมอันเกิดจากอุปนิสัย ส่วนอุปนิสัยของเราเราหาเห็นไม่แก่พฤติกรรมย่อมส่ออุปนิสัยของเขาว่าเป็นอย่างไร
                ดังนั้น คนที่รับอารมณ์อย่างเดียวกัน อาจมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน ถ้าอุปนิสัย (อันเป็นส่วนลึก) ของเขาไม่เหมือนกันตัวอย่างเช่น ก. กับ ข. ได้ยินเสียงการสอนธรรมเหมือนกัน ก.รู้สึกชอบ แต่ ข.รู้สึกรำคาญ พอเปลี่ยนอารมณ์ใหม่ คือเปลี่ยนเป็นเสียงดนตรีจังหวะเร่าร้อน ข.ชอบมาก แต่ก.รู้สึกรำคาญ นี่แสดงว่าอุปนิสัยของคนทั่งสองไม่เหมือนกัน เขาสะสมความชอบและความไม่ชอบของเขามาคนละอย่าง
                วิญญาณหรือจิตเป้ฯเหมือนกระดาษซับหรือแผ่นเสีย ซับหรืออัดสิ่งใดไว้เมื่อมีความเหมาะสมที่จะแสดงออก ย่อมแสดงสิ่งนั่นออกมา แต่มีปฏิกิริยาโต้ตอบไม่เหมือนกันก็เพราะอุปนิสัยอันเป็ฯส่วนลึกของเขาแตกต่างกัน อุปนิสัยของคนเป็นอย่างใด เขาย่อมแสดงตนอย่างนั้นเสมอ
                อารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ตกลงไปสะสใอยู่ในจิตไร้สำนึกรหือภวังควิญญาณของเรา แม้จิตสำนึกหนือวิถีวิญญาณของเราก็ไม่ผ่องใด ระคนอยุ่ด้วยราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง รวมความว่าทั้งส่วนลึกและส่วนผิวของจิตไม่ผ่องใดเปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่นมัวทั้งผิวของน้ำและส่วนลึกของน้ำ เราจึงไม่สามารถมองเห็นอะไรที่อยู่ใต้น้ำอันซับซ้อนกันอยู่มากมาย
                เรื่องราวในอดีตเราเปรียบเหมือนของต่าง ๆ ที่ซับซ้อนกันอยู่ใต้น้ำ ส่วนลึกแห่งจิตของเราเปรียบเหมือนส่วนลึกของน้ำผิวของจิตหรือจิตสำนึก (Conscious mind) ของเราเปรียบเหมือนผิวน้ำ ส่วนลึกของจิดตของเราสะสมไว้แต่ละวัน
                เมื่อจิตหรือวิญญาณ รับอารมณ์ เป็นต้นว่า รูป ถ้ารูปสวยเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด บุคคลผู้นั้นเกิดความกำหนัดในรูปนั้น เมื่อผ่านเลยไปแล้ว ความกำหนัดซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวนั้นหายไปแล้ว ที่ว่าหายไปแล้วนั้นเป็นเพียงความรู้สึกของบุคคลผู้นั้น แต่ความจริง ความรู้สึกกำหนัดนั้นหาได้หายไปเลยไม่ มันลงไปนอนเป็นอนุสัยอยู่ในจิตไร้สำนึก ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกอาการอย่างนี้ว่าราคานุสัย ถ้าจิตไม่ชอบเกิดความหงุดหงิดขึ้น มันก็ลงไปเป็นปฏิฆานุสัย เพาะเชื้อแห่งความโกรธง่ายให้เกิดขึ้นในจิตสันดาน อารมณ์ภายนอก หนือสิ่งภายนอกที่มากระทบจิตเปรียบเหมือนไฟ อาสวะ (ส่วนชั่วที่เราสะสมไว้ใจจิต) และบารมี (ส่วนดีที่เราสะสมไว้ในจิตหรือวิญญาณ) เป็ฯเหมือนเชื้อเพลิง ถ้าไม่มีเชื้อไปอยู่แล้ว เอาไฟมาจุดมาจี้ก็ไม่ลุกเป็นไฟขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น คนที่ไม่มีราคะอยู่ในจิต แม้จะพบเห็นรูปที่สวยงามหรือเอาความสวยงามปานใดมายั่วยวน ไฟคือราคะก็หาเกิดขึ้นเผาใจบุคคลเช่นนั้นไม่เหมือนเอาไฟที่หัวไม้ขีดเล็ก ๆ ไปกระทบเข้ากับน้ำไฟนั้นย่อมดับไปเอง แต่คนเราที่มีราคานุสัยอยู่มากพอกระทบอารมณ์ที่งามเข้าไฟคือราคะก็ลุกพึ่บขึ้นทันที
                ทางด้านบารมีก็เหมือนกัน คือมีบารมีมาทางใดมากเรียกว่ามีเชื้ออย่างนั้นอยู่ในจิตมาก เมื่อกระทบอารมณ์ภายนอกอย่างนั้นเข้า บารมีนี้นก็ออกมารับทันที เช่น คนผู้สะสมบารมีในทางธรรมมามาก เมื่อได้ฟังธรรมอ่านหนังสือธรรมย่อมมีความพอใจ มีความสุขและสามารถเข้าใจธรรมได้อย่างรวดเร็ว คนที่มีอาสวะและบารมีอย่างอื่นก็ทำนองเดียวกันนี้
                ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำจิตไร้สำนึกของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ตราบนั้นชีวิตของเราจะสดชื่นเบิกบานเต็มที่ไม่ได้ เหมือนผิวน้ำจะมองดูในปานใดก็ตาม ถ้ายังมีของเน่าอยู่ใต้ผิวน้ำ  ผิวน้ำนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์   เพราะเจือไปด้วยเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นและเป็นอันตรายแก่ผู้ดื่มได้
                ผิวของจิตหรือจิตสำนึกปัจจุบันให้บริสุทธิ์นั่นเรามีวิธีทำได้โดยการสำรวมอินทรีย์ คือระวังตา หู จมูก ลิ้น  กายใจ มิให้ยิดี ยินร้ย เมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องผัสสะ และรู้อารมณ์ส่วนติตไรสำนึกหรืออาสวะ อนุสัย เรามีวิธีทำให้บริสุทธิ์ได้ด้วยการทำสมถะและวิปัสสนา ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องกลั่นให้อาสวะระเหิด (Sublimation) ส่วนอินทรียสังวรนั้นเป็นวิธีกรองเอาเฉพาะอารมณ์ที่ดีเข้าสู่จิต เมื่อจิตหรือวิญญาณไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ที่เศาร้าหมองเข้าไปและได้เครื่อง คือความสมถะและวิปัสนา ถอดถอย (Displacement) อารมณ์เศ้าหมองเก่า ๆ ซึ่งทับถมอยู่ให้หายไปความเศร้าหมองซึ่งแนบอยู่กับติตหรือเป็นเชื้ออยู่ในจิตสลายตัวหมดไป เหลือแต่จิตบริสุทธิ์ส้วน ๆ ส่วนอารมณ์ที่เหลืออยู่กับจิตก็เป็นอารมณ์บริสุทธิ์ผ่านการกรองมาแล้วจิตหรือวิญญาณก็กลายสภาพเป็นตัวของตัวเอง คือ บริสุทธิ์ สะอาด  ผ่องใส กระปรี้กระเปร่า (Active) อย่างเต็มที่ไม่ถูกครอบงำ ไม่อยู่ในอำนาจบัญชาการของกิเลส สิ่งชั่ว การกระทำ คำพูด และพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคลเช่นนั้น จึงออกมาในรูปของความบริสุทธิ์ สามารถเห็นได้รู้ได้ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตได้ตลอดรวมไปถึงเรื่องราวในชาติก่อน  ด้วยนี่คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การระลึกชาติได้ของผู้ตั้งใจทำตามแนวทางของพระพุทธศาสนา การที่คนระลึกชาติของตนไม่ได้ก็เพราะมีความเศร้าหมองอยู่กับจิตหรือวิญญาณมาก สิ่งเศร้าหมองเหล่านั้นยังไม่ระเหิดไป มิหนำซ้ำยังรับเอาสิ่งเศร้าหมองเข้าสู่จิตอีกทุกวัน
พระราชกวีพระราชกวี (เกษม สญฺญโต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น